文章
INTERNET HEALTHCARE
22/01/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวที่จะยกระดับความสามารถการให้บริการด้านสาธารณสุขตามแนวคิดการแพทย์อัจฉริยะ หรือ Smart Healthcare ที่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ความชำนาญทางการแพทย์เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่โดยมี Big Data, Cloud Computing, Artificial Intelligence, Blockchain และเทคโนโลยี 5G เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
หนึ่งในนั้นคือประเทศจีนที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ Healthy China 2030 โดยตั้งเป้าหมายให้ประชาชนทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและมีโอกาสได้รับบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและเท่าเทียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ห่างไกลความเจริญผ่านนโยบายการปฏิรูปการแพทย์และการดูแลสุขภาพ หรือ New Medical Reform ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2009 โดยรัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณกว่า 2 ล้านล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการสำคัญ อาทิ การสร้างเครือข่ายข้อมูลสาธารณสุขดิจิทัล การประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์ การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ การปฏิรูปโครงสร้างการบริหาร ฯลฯ
นอกจากนั้น รัฐบาลจีนก็ยังตั้งเป้าหมายการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่ครอบคลุมไปถึงการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้กับงานด้านสาธารณสุขจนเกิดเป็นบริการ “อินเตอร์เน็ต+ การดูแลสุขภาพ” ที่หลากหลาย อาทิ การรักษาโรคทางไกล (Telemedicine) การตรวจรักษาโรคทางอินเตอร์เน็ต (Online Consultation) โรงพยาบาลอินเตอร์เน็ต (Internet Hospital) บริการสั่งจ่ายยาอิเล็กทรอนิกส์ (e-prescription) การซื้อขายเวชภัณฑ์ออนไลน์ (e-commerce) ฯลฯ และสามารถผสมผสานเข้ากับงานบริการรักษาโรคและสาธารณสุขอื่นๆ เช่น นโยบายหลักประกันการจ่ายยา บริการแพทย์ประจำครอบครัว รวมถึงการนำ AI มาใช้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างลงตัว
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนเองก็มีโอกาสเดินทางไปดูงานและร่วมประชุมกับ Venture Capital ด้าน Digital Health รวมถึง ธุรกิจ Startup และบริษัทชั้นนำด้าน AI ของจีน อาทิ SenseTime, Ping An Good Doctor ฯลฯ ซึ่งจากการพูดคุยผู้เขียนพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรม Internet Healthcare ของจีนเติบโตถึงร้อยละ 30 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ การเปิดกว้างด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวเนื่องกับยุทธศาสตร์ New Medical Reform ของรัฐบาลจีน ตัวอย่างเช่น การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ Internet Hospital ในปี 2014 ที่ช่วยปลดล็อกกฎระเบียบและข้อจำกัดเดิมของการให้บริการสุขภาพออนไลน์โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Internet Hospital ร่วมมือกับสถานพยาบาลออฟไลน์แบบดั้งเดิมอย่างน้อย 1 แห่ง หรือนโยบาย Healthcare Digitalization ที่กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเปิดให้บริการช่องทางออนไลน์ เช่น ระบบการจองคิวผู้ป่วยเพื่อลดระยะเวลาการรอคอย หรือระบบการให้คำปรึกษาออนไลน์เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้รับบริการ เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยี Big Data, Super Algorithms และ ข้อมูลการรักษาปริมาณมหาศาลก็ส่งผลให้การแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ แพทย์ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการตรวจรักษาและการวินิจฉัยโรคของผู้รับบริการด้านสาธารณสุขชาวจีนอย่างแพร่หลาย
สำหรับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาก็ได้เปิดรับแนวความคิดเรื่องการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งบทเรียนจากการปฏิรูปสาธารณสุขของประเทศจีนที่น่าจะสามารถนำมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยได้เป็นอย่างดีคือ การส่งเสริมให้มีการพัฒนา Platform เพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ร่วมกับการกำหนดนโยบายและกฎระเบียบภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้จนเกิดผลจริงในวงกว้างก็จะเป็นการช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างเหมาะสมทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง