文章

INFRASTRUCTURE SHARING

07/07/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องมีการลงทุนค่อนข้างมาก การบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นอกจากจะเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมแล้วยังส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลักการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) นับเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย งบประมาณลงทุน ระยะเวลาในการติดตั้ง รวมทั้งส่งเสริมผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งรายเล็กและรายใหญ่ให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยรายงานจาก Mckinsey & Company เปิดเผยว่า การใช้โครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมร่วมกันนั้นช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมประหยัดเงินลงทุนเริ่มต้นไปกว่าร้อยละ 30-50 รวมถึงยังมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพของการให้บริการในระยะยาว ลดมลพิษทางทัศนียภาพเนื่องจากการติดตั้งเสาสัญญาณที่ซ้ำซ้อนมากเกินความจำเป็น และช่วยให้สามารถนำที่ดินไปก่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมด้านอื่นๆ

เมื่อพิจารณาตัวอย่างของประเทศที่มีพัฒนาการก้าวหน้าด้านโทรคมนาคมก็พบว่า หลายประเทศมีนโยบายส่งเสริมและเปิดกว้างธุรกิจการให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ใช้ร่วมกัน เช่น ในสหรัฐฯ บริษัท Mid-Atlantic Broadband หรือ MBC ก็เป็นผู้ให้บริการเช่าเสาแก่ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐเวอร์จิเนีย หรือประเทศจีนที่มีการส่งเสริมผลักดันนโยบายการร่วมใช้โครงข่ายอย่างจริงจังโดยในปี 2018 รัฐบาลจีนก็ได้นำบริษัท China Tower Corp. รัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของจีนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO) โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 6.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงปัจจุบัน China Tower Corp. ก็ยังเป็นเจ้าของสถานีฐานกว่า 2 ล้านสถานีหรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 96 ของโครงข่ายทั้งหมดในประเทศจีนเลยทีเดียว

สำหรับประเทศไทยแนวคิดและนโยบายการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันก็เริ่มได้รับการยอมรับ ส่งเสริม และผลักดันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2563 คณะกรรมการ กสทช. (NBTC) ก็ได้มีการประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สาย อาทิเช่น สถานีฐาน เสา สิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ สายสัญญาณ ฯลฯ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันเสรี ลดข้อจำกัดและการผูกขาดเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่จะได้รับบริการที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ WHA Group ในฐานะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทยก็ได้มีการลงทุนและเปิดบริการให้เช่าโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) แก่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดของ WHA Group รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำต่างๆ เพื่อต่อยอดการลงทุนไปสู่การให้บริการ 5G Tower ในระยะถัดไป โดย WHA Group จะเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมต่างๆ ของเทคโนโลยี 5G ก่อนนำมาเปิดให้บริการเช่าแก่ผู้ที่สนใจซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระงบประมาณลงทุน/ ค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการแต่ละราย ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้มีการนำทรัพยากรหรือโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิด Infrastructure Sharing อีกด้วย

เมื่อโลกกำลัง transform ไปสู่ความเป็นดิจิทัลในอัตราเร่ง การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมคุณภาพดีและมีค่าบริการที่เหมาะสมได้กลายเป็นปัจจัยกำหนดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ แนวคิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่สามารถตอบโจทย์ทั้งการลดความซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง สร้างความเท่าเทียม และควรได้รับการสนับสนุนขยายผลในวงกว้างไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป