文章
DIGITAL REALITY
08/06/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในขณะที่เทคโนโลยีได้มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกกล่าวถึงและคาดว่าจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในโลกยุคดิจิทัลคงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีความเป็นจริงดิจิทัล หรือ Digital Reality โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นาย มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งบริษัทผู้พัฒนาเครือข่ายสังคมหรือที่รู้จักกันในนาม Facebook ก็ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ด้วยวิสัยทัศน์ในการมุ่งพัฒนา Metaverse ที่เป็นโลกเสมือนจริงด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นเหมือนสิ่งตอกย้ำให้ทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญและจับตามองประโยชน์/ ผลกระทบของเทคโนโลยีดังกล่าวนั่นเอง
เทคโนโลยี Digital Reality นั้นครอบคลุมถึงเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality: AR) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality: VR) และเทคโนโลยีความเป็นจริงผสม (Mixed Reality: MR) จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลายอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น Volvo บริษัทผู้ผลิตยานยนต์จากประเทศสวีเดนก็ได้มีการนำแว่น Google Cardboard ให้ลูกค้าสวมใส่เพื่อทดลองขับยานยนต์บนโลกเสมือนจริง (Virtual Test Drive) นอกจากนี้ ยังมี IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านชั้นนำที่ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม หรือ AR มาจำลองการวางสินค้าแบบ 360 องศา รวมถึงสาธิตการประกอบสินค้า ได้แบบ real-time อีกด้วย
จากตัวอย่างข้างต้น คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเทคโนโลยี Digital Reality สามารถนำมาช่วยลดต้นทุน เสริมประสิทธิภาพการให้บริการ ตลอดจนสร้างคุณค่าและประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้กับภาคธุรกิจได้อย่างมหาศาล ซึ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ 5G, AI และหุ่นยนต์ ก็ได้เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพ เสถียรภาพ และการใช้งานของเทคโนโลยีความเป็นจริงดิจิทัลได้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ก็เปรียบเสมือนตัวเร่งการยกระดับขีดความสามารถและกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้อย่างกว้างขวาง จากการสำรวจข้อมูลโดย IDC พบว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเองก็มีการนำกลุ่มเทคโนโลยี Digital Reality มาใช้ในกระบวนการทำงานและการพัฒนาการให้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังสะท้อนจากมูลค่าทางการตลาดของเทคโนโลยี AR และ VR ของภูมิภาคนี้ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 28.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2024 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 47.7 ตั้งแต่ปี 2019 ถึงปี 2024 เลยทีเดียว
สำหรับประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ก็ได้คาดการณ์ว่า ตลาดเทคโนโลยี Digital Reality มีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างมากและจะมีมูลค่าสูงถึง 1.86 หมื่นล้านบาทภายในปี 2025 ซึ่งภาครัฐเองก็ได้มีความพยายามสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการ EEC ที่เป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตามแนวทาง Digital Thailand ที่ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลให้เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่ EEC และเป็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ทั้งนี้ ในปี 2021 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ก็ได้เปิดเผยว่ามีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 790 โครงการ โดยเป็นโครงการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลกว่า 170 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 14,030 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 771 หากเปรียบเทียบกับมูลค่าเงินลงทุนในปีก่อนหน้า
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีความเป็นจริงดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป อีกทั้งยังถูกมองว่าจะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาระบบนิเวศ/ แพลตฟอร์มสำหรับนวัตกรรมใหม่ๆ และอาจก่อให้เกิดกระแส disruption ธุรกิจการให้บริการแบบดั้งเดิมในอนาคตอันใกล้นี้ ช่วงเวลานี้ประเทศไทยจึงควรเร่งศึกษาและเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาวได้อย่างแท้จริง