บทความ
ทรัพยากรน้ำ
13/03/2562คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
น้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ อย่างไรก็ตาม จากรายงานของกรมสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกา (USGS) พบข้อมูลว่า กว่า 97% ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกเป็นน้ำทะเลในมหาสมุทรโดยมีส่วนที่เหลือเพียง 3% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดที่ถูกกักเก็บอยู่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งน้ำแข็งและหิมะ รวมถึงน้ำใต้ดินและความชื้นในชั้นบรรยากาศจึงทำให้สัดส่วนน้ำผิวดินที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกในปัจจุบัน ตลอดจนการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น และนำมาซึ่งปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่มีปริมาณจำกัดจนเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ เสมอมา สำหรับประเทศไทยเองก็ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตน้ำอย่างต่อเนื่องทั้งสถานการณ์ภัยแล้ง ปัญหาแหล่งน้ำเสื่อมโทรม รวมทั้งอุทกภัยที่ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายในพื้นที่โครงการ EEC จึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายแสดงความกังวล การขยายตัวของอุตสาหกรรมและพื้นที่เมืองทำให้แนวโน้มความต้องการใช้น้ำภายในพื้นที่ 3 จังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำจืดที่มีคุณภาพและปริมาณตามที่ต้องการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านข้อมูลและวิธีดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนที่ต้องร่วมมือกันกำหนดแผนงานบริหารจัดการน้ำในระยะยาวทั้งด้านความต้องการ (Demand) และการจัดหา (Supply) จึงจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกันอย่างคุ้มค่าและเท่าเทียมระหว่างกลุ่มผู้ใช้ประเภทต่างๆ
ซึ่งทางภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐโดยการกำหนดให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 38 หน่วยงานจาก 7 กระทรวง รวมถึงการผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็น พ.ร.บ.น้ำฉบับแรกของไทยเพื่อส่งเสริมให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังเปิดโอกาสให้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการผลิตน้ำเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่น เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Wastewater Reclamation) เทคโนโลยีการนำน้ำทะเลมาผลิตเป็นน้ำจืด (Desalination) รวมถึงเทคโนโลยีระบบผลิตน้ำกลั่น เช่น น้ำ Demin หรือ Demineralized Water เป็นต้น ซึ่งภาครัฐและผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมากและมีความเสี่ยงเนื่องจากกระบวนการผลิตจะเสียหายจากวิกฤตขาดน้ำสามารถร่วมกันลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การสำรองน้ำใช้ในสภาวะฉุกเฉินโดยพิจารณาจากระดับคุณภาพของน้ำที่ต้องการใช้และต้นทุนของเทคโนโลยีในการประเมินความคุ้มค่าการลงทุนซึ่งหากประสบผลสำเร็จก็จะสามารถนำมาขยายผลสำหรับการผลิตเพื่อครัวเรือนและชุมชนต่อไป
การบูรณาการความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจึงเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาวิธีคิดและการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ การมุ่งแก้ปัญหาเพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือโดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแบบเอกเทศพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมจึงจำเป็นต้องมีความสอดคล้องผสมผสานด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอันจะนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จแท้จริง