บทความ
SUSTAINABLE DEVLOPEMENT
20/03/2562คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนมาปรับใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพชีวิต สังคมและเศรษฐกิจตาม "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ จากรายงาน SDG Index ประจำปี 2018 ผู้เขียนพบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 59 จากทั้งหมด 156 ประเทศ และมีระดับคะแนนที่ 69.2 ซึ่งดีกว่าคะแนนเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 64.1 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดจะพบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบโดยปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดเพียงด้านเดียวจาก 17 ปัจจัยที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับถดถอยซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเนื่องจากรายงานได้พิจารณาอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงานเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญ
เหรียญด้านหนึ่งของการพัฒนา คือ การสร้างงาน การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจนทำให้ GDP และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เหรียญอีกด้านหนึ่ง คือ การบริหารจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ มลภาวะและสิ่งแวดล้อม ระยะเวลากว่า 30 ปี ของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program (ESB) ทำให้พื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยองเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายกลายเป็นศูนย์กลางความเจริญและเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาประเทศจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงเวลานั้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 และ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลจึงวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นสำหรับโครงการ EEC โดยเฉพาะด้านการกำหนดให้มีมาตรการควบคุมดูแลและกลไกป้องกันที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การกำหนดขั้นตอนและคณะกรรมการผู้ชำนาญด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA (Environmental Impact Assessment) สำหรับทุกโครงการสำคัญภายในพื้นที่ EEC จึงสามารถช่วยลดระยะเวลาการพิจารณาและอนุมัติจาก 48 เดือนให้เหลือเพียง 8 เดือน ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายและกำหนดกลไกการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศโดยยึดตามแนวทาง Green Growth Engine ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนและการปรับแนวคิดจากเดิมที่คำนึงถึงความได้เปรียบเรื่องต้นทุน (Cost Advantage) มาสู่การคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งระบบ (Lost Advantage) มากยิ่งขึ้น
จากแนวทางดังกล่าว โครงการ EEC จึงมุ่งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงตามแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่เน้นการเพิ่มคุณค่าของสินค้าและบริการผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยียุคใหม่ที่ที่แตกต่างไปจากโครงการ ESB ที่เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและปัจจัยการผลิตเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ตลอดจนแนวทางการพัฒนาเมืองและนิคมอุตสาหกรรมยุคใหม่ยังสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานจากขยะชีวมวล (Biomass) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และสนับสนุนการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน
การมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนให้ทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานออกจากกรอบแนวความคิดแบบเดิม โดยการคำนึงถึงขีดจำกัดความสามารถในการรองรับการพัฒนาของพื้นที่ในมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอันจะทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางพร้อมๆ กับสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง