บทความ
THE RAIL INDUSTRY
12/06/2562คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“รถไฟไทย” ถือว่าเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่มีประวัติความเป็นมาหลายร้อยปีนับตั้งแต่การจัดตั้งกรมรถไฟแห่งประเทศสยามเมื่อปี พ.ศ. 2433 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยขาดการวางแผนลงทุนเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งทางรางอย่างจริงจังเป็นระยะเวลานานจึงทำให้ “รถไฟไทย” ไม่ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สะท้อนจากข้อมูลผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานทางรางของไทยที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
การขนส่งโดยระบบรางได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นวิธีการขนส่งที่มีต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยต่ำที่สุด มีการใช้พลังงานไม่มาก รวมไปถึงทำลายสิ่งแวดล้อมน้อย หลายประเทศทั่วโลก อาทิเช่น กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น จีน หรือแม้กระทั่งอินเดียต่างก็สนับสนุนให้มีการใช้การขนส่งทางรถไฟเป็นวิธีการคมนาคมหลัก ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการคมนาคมขนส่งและประโยชน์ต่อเนื่องจากการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยวแล้วยังช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ตัวอย่างจากประเทศจีนที่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟให้เติบโตอย่างรวดเร็วผ่านยุทธศาสตร์การนำเข้าองค์ความรู้จากต่างชาติจนทำให้ปัจจุบันประเทศจีนกลายเป็นมหาอำนาจรถไฟความเร็วสูงที่มีบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน ได้แก่ China Railway Construction Corporation (CRCC) และ CRRC Sifang (CRRC) เป็นผู้นำด้านการลงทุนและการให้บริการอย่างครบวงจร
สำหรับประเทศไทยโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางรางต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมาที่จะสามารถเชื่อมต่อเข้ามายังพื้นที่ EEC รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่และระบบรถไฟฟ้าเส้นต่างๆ ก็จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาครัฐที่จะกำหนดนโยบายให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบุคลากรชาวไทย รวมถึงการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมรถไฟที่ปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนา อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกและโพลิเมอร์ ตลอดจนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความสามารถอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับภาคเอกชนเองผู้ประกอบการไทยก็ควรมองหาลู่ทางในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟและระบบรางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาจเริ่มจากชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนน้อยก่อนที่จะต่อยอดขึ้นไปสู่การผลิตชิ้นส่วนที่มีความซับซ้อนมากและราคาสูงต่อไป
นอกจากโครงการพัฒนาระบบรางต่างๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันก็จะช่วยรองรับปริมาณการขนส่งสินค้า การเดินทาง และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศแล้ว การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางเพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสำหรับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อกำกับดูแลทั้งรถไฟทั่วไป รถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงก็จะช่วยให้การควบคุมการกำหนดค่าโดยสารและการเชื่อมต่อระบบรถไฟต่างๆ ของไทยในอนาคตมีความสอดคล้องและเป็นตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามากยิ่งขึ้น
การส่งเสริมให้มีการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางรางควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟจะช่วยให้ประเทศได้รับประโยชน์ทั้งการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านประสิทธิภาพและต้นทุนการขนส่งสินค้าและการคมนาคมควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและกลุ่มอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งทำให้เกิดการสร้างงานและสร้างเทคโนโลยีที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป