บทความ

SCIENCE PARK

10/07/2562

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ช่วง 3-5 ปีมานี้ วงการ Startup ไทยมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องโดยหลายท่านได้ให้คำจำกัดความว่า Startup คือ ธุรกิจเกิดใหม่ที่มีนวัตกรรม เช่น Business Model เทคโนโลยี การบริหารจัดการองค์กร ฯลฯ ทำให้สามารถสร้างมูลค่าและการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน

นวัตกรรมเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง Startup และ SME โดย SME จะมีรูปแบบการทำธุรกิจแบบดั้งเดิมและเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยการใช้เงินลงทุนของตัวเองหรือกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ในขณะที่ Startup ใช้วิธีการระดมเงินทุนจากนักลงทุนและมีรูปแบบการทำธุรกิจที่เน้นไปที่การแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ผลิตภัณฑ์/ บริการเดิมไม่สามารถทำได้หรือทำได้ดีกว่าจึงเกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

จากรายงานของ KPMG พบว่า ในปี 2561 VC ทั่วโลกมียอดลงทุนรวมกันกว่า 254 USD bn โดยสหรัฐฯและจีนเป็นประเทศที่มีระดับการลงทุนสูงที่สุด นอกจากนั้น KPMG ยังรายงานมูลค่าการ IPO ของ Startup ระดับยูนิคอร์นและการซื้อขายกิจการของ Startup ที่ถือหุ้นโดย VC ต่างๆ ที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 300 USD bn (GDP ไทย ~470 USD bn) สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันธุรกิจ Startup ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ตลอดจน Startup ที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างมูลค่าให้กับผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก

เมื่อช่วงกลางเดือนที่แล้วผู้เขียนเองก็มีโอกาสเดินทางไปดูงานโครงการ Science Park เช่น Z-Park, Tsinghua University Science Park (TusPark), Caohejing Science Park และ Zizhu Science Park ที่ตั้งอยู่ในเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้พร้อมกับร่วมประชุมทางธุรกิจกับผู้บริหารระดับสูงของกลุ่ม Tus-Holdings ซึ่งจากการเยี่ยมชมและพูดคุยผู้เขียนพบว่า Science Park ของจีนได้ถูกออกแบบเพื่อตอบโจทย์ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นทำธุรกิจของ Startup/ Entrepreneur ชาวจีน ผ่านการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งด้านพื้นที่ประกอบกิจการ ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย บริษัทขนาดใหญ่ นักลงทุนกลุ่มต่างๆ เพื่อช่วยส่งเสริม Startup ของจีนให้สามารถ scale up และ scale out จนกลายเป็นบริษัทข้ามชาติขนาดเล็กที่ปัจจุบันเป็นขุมพลังในการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโครงการ EEC คือ การพัฒนา EEC Startup Hub โดยภาครัฐเองก็ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกผ่าน Smart Visa มาตรการส่งเสริมทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี โครงการความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ การพิจารณาลดข้อบังคับ/ กฎระเบียบเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมตามแนวคิด Regulatory Sandbox รวมถึงยังสนับสนุนภาคเอกชนและสถาบันวิชาการต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้าง Ecosystem สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup ไทยให้เติบโตโดยการทำงานร่วมกันหรือการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และ Startup ที่มีศักยภาพ

เนื่องจากการพัฒนา Ecosystem เป็นกระบวนการระยะยาวจึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าความคุ้มค่าหรือการทำกำไรระยะสั้นเป็นสำคัญ ความสำเร็จของ Science Park ประเทศจีนจึงเกิดขึ้นได้ด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลที่เป็นผู้ริเริ่มและผลักดันโครงการในระยะเริ่มต้นก่อนจากนั้นเมื่อโครงการมีความก้าวหน้าแล้วจึงปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการและดำเนินงานต่อ การทำงานอย่างบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ Startup และ Smart Entrepreneur ได้กลายเป็นหนึ่งในกลไกหลักตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีของตัวเองแล้วยังจะช่วยพาผู้ประกอบการชาวไทยให้เติบโตก้าวไกลไม่แพ้ชาติอื่นๆ อีกด้วย