บทความ
ลงทุน Q22021
25/08/2564คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯ – จีนที่ยืดเยื้อยาวนาน กลายเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญต่อการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานโลก ภาวะ Supply Chain Disruption และ Trade-Tech-Security war ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาวะการค้าการลงทุนของภูมิภาคและประเทศไทย เมื่อไม่นานนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ก็ได้มีการเปิดเผยสถิติการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2021 ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสใช้พื้นที่นี้เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับข้อมูล เรื่องราว และเหตุการณ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้ค่ะ
สภาวะการลงทุนของประเทศไทยในไตรมาสที่ผ่านมากลับมาส่งสัญญาณเชิงบวก ยอดการขอรับการส่งเสริมใน 6 เดือนแรก คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 386.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 158% โดยเป็นยอดขอรับการส่งเสริมในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมรวมกันทั้งสิ้นกว่า 206.9 พันล้านบาท สำหรับ 5 อันดับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (2) อุตสาหกรรมการแพทย์ (3) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (4) อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร และ (5) อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ตามลำดับ
ทั้งนี้ข้อมูลที่น่าสนใจยังได้แก่สถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 278.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและสูงกว่ายอด FDI ของทั้งปี 2563 ถึง 63% โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริม 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น รองลงมาคือ สหรัฐฯ และจีน ตลอดจนยอดขอรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ก็มีความโดดเด่นไม่แพ้กันโดยมีจำนวนขอรับการลงทุนสูงถึง 126.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นกว่า 33% ของยอดขอรับการส่งเสริมทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งสถิติดังกล่าวก็สอดคล้องกับข้อมูลของ WHA ครึ่งปีนี้ที่มีจำนวนนักลงทุนต่างชาติแสดงความสนใจติดต่อเข้ามาที่นิคมอุตสาหกรรมของ WHA มากกว่าปีที่แล้วทั้งปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ภาวะการส่งเสริมการลงทุนจึงสะท้อนทิศทางการลงทุนของภูมิภาคได้เป็นอย่างดีเหมือนกับที่ผู้เขียนมักสื่อสารเมื่อมีโอกาสเสมอว่า ผลกระทบจาก COVID-19 และการแข่งขัน/ การแยกตัวระหว่างสหรัฐฯ และจีน (US-China Decoupling) กลายมาเป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิต (Production Relocation) เข้ามาในภูมิภาคโดยเฉพาะประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งสอดคล้องเป็นไปตามแนวคิดของห่วงโซอุปทานโลกในอนาคตที่จะมีการกระจายตัวเพื่อลดความเสี่ยง (Diversification) เชื่อมโยงระหว่างกันภายในภูมิภาค (Regionalization) และใกล้ตลาดหรือผู้บริโภค (Close to Market) มากขึ้นอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการของโครงการ EEC ในช่วงที่ผ่านมาก็มีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนควบคู่ไปกับการปรับปรุง Airport Rail Link ให้ทันสมัย หรือท่าเรือแหลมฉบังฯ ที่ปัจจุบันสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC โดยร่างสัญญาอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดและจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเป็นลำดับต่อไป ตลอดจนการประกาศจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษเพิ่มเติม ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง บ้านฉาง จังหวัดระยอง บนพื้นที่โครงการ 519 ไร่ เพื่อรองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และกิจการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การให้บริการเทคโนโลยี 5G, การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ฯลฯ
สถิติการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นสัญญาณดีของการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะช่วงเวลาภายหลังการแพร่ระบาดทั้งด้านการเป็นแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ส่งเสริมทักษะแรงงาน รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ของไทยนั่นเอง