บทความ
PERSONALIZED NUTRITION
18/05/2565คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันกระแสรักสุขภาพเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลก ประกอบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนต่างตื่นตัวในการระวังป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บและตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมเพื่อสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้บริโภคจึงหันมาใส่ใจกับคุณค่าทางโภชนาการมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดความนิยมในเทรนด์อาหารยุคใหม่อย่างเช่น อาหารคลีนเพื่อสุขภาพ อาหารจากพืช (Plant-based Food) หรืออีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจคือ อาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition)
อาหารเฉพาะบุคคล หรือ Personalized Nutrition เป็นการออกแบบโภชนาการด้วยแนวคิดแบบ Tailored to Fit แทนแนวคิดดั้งเดิมแบบ One Fit All โดยอาหารจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล ซึ่งจะประกอบไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นและเหมาะสมกับร่างกายผ่านการพิจารณาจากรูปแบบการใช้ชีวิต สุขภาพ และสารพันธุกรรม (DNA) โดย Personalized Nutrition นั้นถือเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนโลกของอาหาร อีกทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่ด้านการแพทย์เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน รวมถึงการดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน ฯลฯ หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวได้อีกด้วย
ถึงแม้ว่าตลาด Personalized Nutrition ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ก็เป็นตลาดที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากการคาดการณ์ของสำนักวิจัย Markets and Markets ระบุว่า มูลค่าตลาด Personalized Nutrition ทั่วโลกจะเติบโตจาก 8.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เป็น 16.4 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 15 โดยการเติบโตของตลาดนั้นมีปัจจัยเกื้อหนุนจากทั้งด้านของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจทางด้านโภชนาอาหารที่เหมาะสมกับร่างกายมากขึ้น รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านอาหารและสุขภาพก็มีส่วนเข้ามาช่วยในการสร้างให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนภายใต้ต้นทุนที่ต่ำลง
โดยปัจจุบันก็เริ่มมีตัวอย่างธุรกิจให้เห็นอย่างหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก อาทิเช่น บริษัท Nestle จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการนำผล DNA ของผู้บริโภคมาวิเคราะห์เพื่อคิดค้นเมนูอาหารเฉพาะบุคคล หรือ บริษัท Verdify จากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่พัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถออกแบบสูตรอาหารที่เหมาะสมกับตัวเองและทำเองที่บ้านได้ หรือหากต้องการบริการจัดส่งอาหารพร้อมทานถึงบ้านก็สามารถทำได้เช่นกัน หรือร้าน Sushi Singularity จากประเทศญี่ปุ่นที่มีการประเมินผลตัวอย่างทางชีวภาพของลูกค้าเพื่อนำมาทำเป็นซูชิที่มีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละคนโดยใช้ 3D Printer เข้ามาช่วยในการประกอบอาหาร หรือแม้กระทั่งร้าน Grocery อย่าง Heinen จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่เปิด Personalized Nutrition Center ในซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับบริการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการกับลูกค้าเพื่อให้สามารถเลือกซื้อสินค้าที่ตอบโจทย์สุขภาพเฉพาะบุคคลได้ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ธุรกิจ Personalized Nutrition ยังอยู่แค่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะคว้าโอกาสในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยการจะผลักดันให้ตลาดเติบโตและขยายตัวเป็นวงกว้างนั้นต้องอาศัยการส่งเสริมทั้งในฝั่งของ Demand ผ่านการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการทางอาหารเฉพาะบุคคล รวมถึงฝั่ง Supply ผ่านการส่งเสริมให้เกิดการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาเสริมศักยภาพของกระบวนการผลิต พร้อมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนและต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอาหารควบคู่กันไป