บทความ

Committed To Sustainability

24/08/2565

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

 

การกำหนด "เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติได้ทำให้ ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลายประเทศต่างนำเอาแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพชีวิต สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน

สำหรับประเทศไทย จากรายงาน SDG Index ประจำปี 2022 ผู้เขียนพบว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 44 จากทั้งหมด 163 ประเทศและมีระดับคะแนนที่ 74.1 ซึ่งดีกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ที่ 68.3 คะแนน แม้ประเทศไทยจะมีความคืบหน้าในการพัฒนาด้านความยั่งยืนเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีเป้าหมาย SDGs ที่อยู่ในสถานะมีความท้าทายมากและจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงการดำเนินงาน ได้แก่ การขจัดความหิวโหย (SDG 2) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) ทรัพยากรทางทะเล (SDG 14) ระบบนิเวศบนบก (SDG 15) และ สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง (SDG 16) เป็นต้น

ทั้งนี้ ภาครัฐก็ได้มีความพยายามในการผลักดันการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการ EEC ที่ไม่เพียงแต่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะเดียวกัน ยังได้นำเอาแนวทาง Green Growth Engine มาประยุกต์ใช้ในการกำหนดกลไกการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนซึ่งเป็นพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานจากขยะชีวมวล (Biomass) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar) และการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อันเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกับการรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนด้วยเช่นกัน

ซึ่งภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความพยายามในการเข้ามามีส่วนร่วมสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน หลายองค์กรชั้นนำได้ยึดหลัก 3P: Planet People Profit ที่เป็นดุลยภาพขั้นพื้นฐานของธุรกิจที่ยั่งยืน และนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรกันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น WHA Group ที่มุ่งประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การจำหน่ายและการให้บริการด้าน พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) พลังงานจากขยะอุตสาหกรรม (Industrial Waste to Energy) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) พร้อมกันนี้ ยังได้มีการตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality เพื่อการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิสู่ชั้นบรรยากาศของโลกให้เป็นศูนย์อีกด้วย พร้อมกันนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกฝ่ายตั้งแต่ ผู้ผลิต คู่ค้า พนักงาน ไปจนถึงชุมชน ดังสะท้อนจากการพัฒนา WHAbit ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ช่วยยกระดับการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และโซลูชั่นด้านการดูแลสุขภาพสำหรับพนักงานและลูกค้าทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ตลอดจนโครงการ/ กิจกรรมด้าน CSR อาทิ โรงพยาบาลสนามสมุทรปราการรวมใจ 5 สำหรับรองรับผู้ป่วย COVID-19 ที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียง และ โครงการปันกัน ที่ช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของผู้ที่อยู่อาศัยภายในพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทฯ เป็นต้น

การมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นเปรียบเสมือนสิ่งที่คอยย้ำเตือนให้ทุกภาคส่วนปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานออกจากกรอบแนวความคิดแบบเดิม โดยคำนึงถึงขีดจำกัดความสามารถในการรองรับการพัฒนาในมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 และ SDGs ขององค์การสหประชาชาติในระยะยาวนั่นเอง