บทความ

DECARBONIZATION

20/02/2566

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกตลอดช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น คลื่นความร้อนและภัยแล้งในยุโรป น้ำท่วมฉับพลันในเกาหลีใต้ แผ่นดินไหวในตุรกีและซีเรีย ฯลฯ นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่สุดในประวัติการณ์ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเราไม่อาจละเลยกับปัญหาได้อีกต่อไป

โดยทั่วโลกต่างตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถนำมาซึ่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลอดจนสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องอาศัยความร่วมมือระดับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และมุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้ได้ภายในช่วงกลางศตวรรษเพื่อบรรเทาความรุนแรงจาก Climate Risks ที่ต้องเผชิญในอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศจึงต่างตื่นตัวกับปัญหาดังกล่าวโดยทยอยประกาศจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ตลอดจนได้มีความพยายามผลักดันให้ประเทศของตนพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ได้กำหนดนโยบายในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนและการหลีกเลี่ยงการสร้างแหล่งคาร์บอนใหม่ผ่านการออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนด้านการลงทุนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของประเทศและเร่งผลักดันการใช้พลังงานสะอาด/พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนมาตรการด้านการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Tax) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการกำหนดทิศทางใหม่ของการค้าโลก ซึ่งมาตรการดังกล่าวถูกผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป โดยฝั่งวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาได้มีการเสนอ Clean Competition Act เพื่อเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงจากผู้ผลิตสินค้าในประเทศและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศในอัตรา 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2024

ในขณะที่ สหภาพยุโรปเองก็มีการกำหนดมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากสินค้านำเข้าตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้านั้นๆ เพื่อทำให้ต้นทุนราคาคาร์บอนของสินค้านำเข้าเท่ากับต้นทุนราคาคาร์บอนที่ผู้ประกอบการในสหภาพยุโรปต้องจ่ายภายใต้ระบบ EU Emissions Trading System (ETS) อันจะเป็นการช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในสหภาพยุโรป รวมถึงกระตุ้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศคู่ค้าอย่างจริงจังอีกด้วย โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2023 กับกลุ่มสินค้านำร่องซึ่งเป็นสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง เช่น ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ฯลฯ และคาดว่าจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปี 2026 ซึ่งการปรับเปลี่ยนเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ภาคธุรกิจไม่อาจละเลย ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมความพร้อมในการปรับแผนธุรกิจและกระบวนการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายของโลกและนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการรองรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย