บทความ
WELLNESS TOURISM
09/10/2566คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากการที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีกันมากยิ่งขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังเห็นได้จากรายงานของสถาบัน Global Wellness Institute (GWI) ที่คาดการณ์ว่ามูลค่าเศรษฐกิจเพื่อสุขภาพทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นจาก 4.3 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 เป็นกว่า 7.0 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 10% ต่อปีเลยทีเดียว
โดยกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุดคือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดสูงสุดเป็นอันดับที่ 4 จากทั้งหมด 11 กลุ่มธุรกิจและคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยที่ 21% ต่อปี ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนี้มีความแตกต่างจากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ที่มุ่งเน้นการรักษาปัญหาสุขภาพ แต่ Wellness Tourism จะเป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพใจให้มีความแข็งแรงสมดุลเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีผ่านการเดินทางท่องเที่ยวเยี่ยมชมสถานที่และทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเรียนรู้วิถีธรรมชาติ การนวดสปาเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย เป็นต้น
โดยเมื่อช่วงกลางปี Global Wellness Institute (GWI) ก็ได้เปิดเผย 6 เทรนด์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อทิศทางของธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในยุคนี้ ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้หยิบยกเทรนด์ที่น่าสนใจขึ้นมาพูดถึงอันได้แก่ (1) Longevity and Wellness Partnership การเพิ่มขึ้นของความร่วมมือระหว่างบริษัทจากอุตสาหกรรมโรงแรมและการบริการขนาดใหญ่กับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์เพื่อเพิ่มรูปแบบการให้บริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร (2) Blue Tourism หรือการท่องเที่ยวสีครามซึ่งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่างๆ บริเวณทะเลหรือชายหาด เช่น การดำน้ำ การเล่นโยคะกลางน้ำ ฯลฯ เพื่อบำบัดร่างกายและจิตใจ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และชุมชนเป็นอย่างมาก และ (3) Indigenous Travel หรือการท่องเที่ยวแบบพื้นเมืองที่มุ่งเน้นให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีพื้นเมืองซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่นแล้วยังเป็นการสร้างความเคารพและความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมอีกด้วย
เมื่อพิจารณาถึงเทรนด์ที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ Wellness Tourism อย่างโดดเด่น ดังเห็นได้จากศักยภาพและความได้เปรียบด้านการบริการสุขภาพที่เกื้อหนุนและส่งผลให้อุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นอกจากนี้ ประเทศไทยเองก็ยังมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งธุรกิจการแพทย์และการรักษาพยาบาลที่มีชื่อเสียงโดดเด่นโดยเฉพาะด้านสมุนไพรไทย สปา รวมถึงการมีวัฒนธรรมที่สวยงาม ตลอดจนความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติอันเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้มารับบริการมาอย่างยาวนาน
แม้ประเทศไทยจะมีปัจจัยหลายด้านที่สอดรับกับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแต่การนำข้อได้เปรียบดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนอย่างมีกลยุทธ์ผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรม การสร้างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และขนาดเล็กเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างเต็มรูปแบบพร้อมทั้งพัฒนาประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจรอันจะช่วยให้อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยมีความโดดเด่นและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในระดับสากลนั่นเอง