บทความ

THE ONE CHINA

29/01/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ไต้หวัน (สาธารณรัฐจีน หรือ Republic of China) เกาะขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจีนและมีประชากรเพียง 23 ล้านคน แต่กลับเป็นหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวที่สุดของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งหากพิจารณาย้อนกลับไปเราจะพบว่าประวัติศาสตร์ยาวนานหลายสิบปีที่เกี่ยวข้องกับทั้งสหรัฐฯ และจีนทำให้ไต้หวันกลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งนี้

"นโยบายจีนเดียว” (One China Policy) ต่างกับ “หลักการจีนเดียว” (One China Principle)

ภายใต้นโยบายจีนเดียว (One China Policy) รัฐบาลสหรัฐฯ รับทราบจุดยืนทางการทูตของรัฐบาลจีนที่ประกาศให้ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน (สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ People's Republic of China) และพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีน แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ไม่เคยแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการยอมรับนโยบายดังกล่าวโดยปล่อยให้สถานะของไต้หวันคลุมเครือ รวมถึงพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งแตกต่างจาก "หลักการจีนเดียว" (One China Principle) ที่จีนยืนยันว่าไต้หวันคือมณฑลหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกและจะต้องกลับมารวมกันในสักวันหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สถานะของไต้หวัน และความสัมพันธ์ไต้หวัน-สหรัฐฯ-จีน

ประเทศส่วนน้อยเท่านั้นที่ให้การรับรองสถานะประเทศเอกราชแก่ไต้หวัน แต่ไต้หวันก็ยังสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับพันธมิตรทั่วโลกไว้อย่างเหนียวแน่น รวมถึงใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ โดยในปี 1979 รัฐสภาของสหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ที่ระบุว่าสหรัฐฯ สนับสนุนให้ไต้หวันและจีนใช้วิธีเจรจาอย่างสันติเพื่อยุติข้อพิพาท และแม้จะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ มีพันธะในการส่งกองกำลังรบเพื่อช่วยเหลือกรณีไต้หวันถูกรุกรานแต่สหรัฐฯ จะพิจารณาการให้ความช่วยเหลือด้านยุทโธปกรณ์และบริการด้านการทหารอย่างเพียงพอเพื่อให้ไต้หวันได้ใช้ป้องกันตนเอง  

ไต้หวันผู้ผลิตชิปอันดับ 1 ของโลก

ความสามารถที่ยอดเยี่ยมในการผลิตชิปของไต้หวันทำให้ไต้หวันกลายเป็นตัวแปรสำคัญของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน นับตั้งแต่ปี 1987 โมเดลธุรกิจรับจ้างผลิตชิปแบบเจาะจงโดยไม่มีการออกแบบเอง (Dedicated Foundries) ของบริษัท TSMC ได้ดิสรัปภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และปูทางให้ไต้หวันเป็นผู้นำกึ่งผูกขาดการรับผลิตชิ้นส่วนนี้ ปัจจุบันไต้หวันครองสัดส่วนการผลิตชิปมากกว่าร้อยละ 60 ของทั้งโลก (และร้อยละ 90 สำหรับ the most advanced chips) ซึ่งนอกจากบริษัท TSMC แล้วไต้หวันยังมีบริษัทที่รับผลิตชิปรายอื่นๆ อาทิ UMC, PSMC และ VIS อีกด้วย

ไต้หวันจึงกลายเป็น Hot Spot และจุดเปราะบางท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่งในมาตรการที่สหรัฐฯ นำมาใช้คือการขัดขวาง กีดกัน และจำกัดไม่ให้จีนเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผู้เล่นหลักส่วนใหญ่ยังเป็นประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งจีนก็พยายามตอบโต้ด้วยการทุ่มเททรัพยากรต่างๆ เพื่อสร้าง ecosystem การผลิตชิปเป็นของตนเอง (Decoupling)

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันที่ผ่านมา คุณไล่ ชิงเต๋อ (William Lai) อดีตรองประธานาธิบดีและผู้ชิงตำแหน่งจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) สามารถเอาชนะผู้สมัครจากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) แม้ว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดถือครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติไต้หวันแต่ก็นับเป็นการครองอำนาจทางการเมืองสมัยที่ 3 ติดต่อกันของพรรค DPP ซึ่งการที่ DPP ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันต่ออีกสมัยก็ทำให้พวกเรายังคงต้องติดตามข่าวสารและจับตามองความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนอย่างใกล้ชิดว่าจะพัฒนาต่อไปอย่างไร