บทความ

HYDROGEN: A GAME-CHANGER

24/06/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ไฮโดรเจนเป็นพลังงานทางเลือกที่กำลังได้รับความสนใจในฐานะแหล่งเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานครั้งสำคัญของโลก ด้วยคุณสมบัติเด่นของไฮโดรเจนคือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น รวมถึงมีการเผาไหม้ที่สะอาดจึงทำให้ไฮโดรเจนมีความปลอดภัย ไม่ปล่อยมลพิษ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ไฮโดรเจนนับเป็นธาตุที่พบได้มากที่สุดจึงทำให้ไฮโดรเจนมีปริมาณมหาศาลจนแทบใช้ได้ไม่มีวันหมด อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในอดีตที่ทำให้ไฮโดรเจนไม่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากไฮโดรเจนไม่ใช่แหล่งพลังงานปฐมภูมิที่สามารถนำมาใช้ได้โดยตรง แต่เป็นพลังงานทุติยภูมิที่เกิดขึ้นจากการแปรรูปจากพลังงานชนิดอื่นคล้ายกับพลังงานไฟฟ้า ดังนั้นถึงแม้ว่าไฮโดรเจนจะเผาไหม้ได้สะอาดไร้มลพิษ แต่การนำไฮโดรเจนมาใช้งานในวงกว้างจำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการและขั้นตอนการผลิตไฮโดรเจนว่าจะไม่ก่อให้เกิดมลภาวะหรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยเช่นกัน

ซึ่งอุตสาหกรรมไฮโดรเจนก็มีการพัฒนาเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าวโดยมุ่งเน้นไปที่กระบวนการผลิตแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) ที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติจึงทำให้มีก๊าซ CO2 เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมอยู่ด้วยก็ถูกยกระดับเป็นไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ที่มีการนำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซ CO2 (Carbon Capture and Storage) เข้ามาใช้ในขั้นตอนการผลิตไปจนถึงไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) ที่ปราศจากคาร์บอนเนื่องจากใช้กระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) เพื่อแยกโมเลกุลไฮโดรเจนออกจากโมเลกุลของออกซิเจนในน้ำและใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นส่วนประกอบสำคัญในกระบวนการผลิต

ปัจจุบันมีการใช้งานเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนอยู่แล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจการกลั่นน้ำมัน การผลิตปุ๋ย/ แอมโมเนีย การผลิตเมทานอล โลหะ ฯลฯ แต่สิ่งที่ทำให้ไฮโดรเจนได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาคือแนวคิดการเริ่มนำไฮโดรเจนเข้ามาใช้ในภาคการขนส่ง เช่น เชื้อเพลิงสำหรับรถบรรทุกและรถหัวลาก หรือการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งทางราง ทางน้ำ และทางอากาศที่พลังงานไฟฟ้าและแบตเตอรี่อาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ทั้งหมดเนื่องจากปัจจัยด้านน้ำหนักและระยะทาง ซึ่งแม้ว่าต้นทุนการจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจนทุกวันนี้จะยังคงสูงแต่ความสามารถในการจัดเก็บได้หลายสถานะจึงสามารถเลือกให้เหมาะสมกับประเภทการใช้งาน หรือการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไปจนถึงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รวมถึงความต้องการพลังงานสะอาดเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลกก็จะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมไฮโดรเจนเติบโตและขยายตัวจนทำให้ต้นทุนการผลิต จัดเก็บ และขนส่งลดลงเช่นเดียวกับพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้ประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการส่งเสริมการลงทุน สนับสนุนการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยี และสร้างบุคลากร โดยกำหนดเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางธุรกิจไฮโดรเจนของภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนภาคเอกชนเองก็ให้ความสนใจศึกษาและเริ่มลงทุนในโครงการนำร่องต่างๆ อาทิ การทดลองใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกับรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle) หรือการติดตั้งสถานีต้นแบบเติมไฮโดรเจน ไฮโดรเจนจึงสามารถเป็น game changer และอนาคตของพลังงานโลกในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการลงทุน จ้างงาน ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวที่มุ่งสร้างความสมดุลเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน