บทความ

OVERTOURISM

19/08/2567

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลายประเทศ ด้วยเสน่ห์จากธรรมชาติ วัฒนธรรม และเทศกาลท้องถิ่นทำให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้มหาศาล รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานที่เป็นการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนของประเทศ อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้นจากทั้งภาครัฐ การตลาดเชิงรุกของภาคเอกชน อิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนการขยายตัวของสายการบินราคาประหยัดล้วนนำไปสู่การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลสู่จุดหมายปลายทางยอดนิยม จนเกินขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่นั้น ๆ และนำมาซึ่งปัญหา "ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overtourism)"

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เมืองบาร์เซโลนาที่ต้องรับมือนักท่องเที่ยวมากถึง 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศสเปน จนความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวกลายเป็นปัญหาเรื้อรังต่อชุมชนและจุดชนวนให้เกิดกระแสต่อต้านการท่องเที่ยวในเวลาต่อมา หรือ ประเทศไทยเองที่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน โดยการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศถึงประมาณ 2 ล้านล้านบาทต่อปี กลับมีสัดส่วนมาจากเมืองหลักจำนวน 22 จังหวัดถึง 80% และเมืองรองจำนวน 55 จังหวัดเพียง 20% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวยังคงกระจุกตัวในบางพื้นที่ของประเทศเท่านั้น

เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวมีมากเกินกว่าขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว ผลกระทบจึงเกิดกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ทั้งในแง่ของความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวันอันเนื่องมาจากระบบขนส่งสาธารณะและสาธารณูปโภคที่หนาแน่นจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนถึงความรู้สึกถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว นอกจากนี้ การกระจายรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวยังกระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นส่วนมาก และส่งผลให้ธุรกิจท้องถิ่นต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือด ยิ่งไปกว่านั้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนคนและยานพาหนะยังก่อให้เกิดปัญหาขยะ มลพิษ รวมถึงความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งในที่สุดก็ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเอง

จากสถานการณ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปัญหา Overtourism ได้ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น การแก้ปัญหา Overtourism จึงเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน โดยหนึ่งในวิธีที่ใช้ได้ผลคือ การจัดระเบียบการเข้าออกของนักท่องเที่ยว เช่น กำหนดโควตาจำนวนผู้เข้าชมต่อวันในแต่ละช่วงเวลาสำหรับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หรือการใช้กลไกราคาในการจัดการให้อุปสงค์และอุปทานเกิดความสมดุล เช่น ประเทศภูฏานที่ใช้นโยบาย High Value, Low Impact โดยเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวเพื่อจำกัดจำนวนคนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกวิธีหนึ่งคือ การกระจายนักท่องเที่ยวด้วยการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่นิยม รวมทั้งพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่เพื่อลดความแออัด นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยียังเป็นตัวช่วยที่ดีในการจัดการ เช่น การใช้ AI ช่วยทำนายปริมาณนักท่องเที่ยวในแต่ละสถานที่ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถปรับแผนการจัดการในอนาคตได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

ในท้ายที่สุด การแก้ปัญหาควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการและองค์กรต่าง ๆ เพราะนักท่องเที่ยวเป็นเพียงผู้คนที่มาเยือนและจากไป แต่คนท้องถิ่นจะต้องอยู่กับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อ “บ้านและแหล่งทำกิน”ดังนั้น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งรักษาความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินั่นเอง