บทความ

AGENTIC AI IS TRANSFORMING HEALTHCARE INDUSTRY

31/03/2568

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการแพทย์ในการช่วยรับมือกับข้อจำกัดและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือช่วยบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจจับรูปแบบความปกติ ไปจนถึงการนำเสนอทางเลือกการรักษาเพื่อประกอบการตัดสินใจ

โดยปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอีกขั้นจาก AI แบบดั้งเดิมสู่ Agentic AI หรือ ผู้ช่วย AI อัจฉริยะที่มีความสามารถในการรับรู้สภาพแวดล้อม ประเมินสถานการณ์ ตัดสินใจ และดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากมนุษย์ ซึ่งเบื้องหลังความสามารถนี้มีเทคโนโลยีอย่าง Machine Learning และ Large Language Models เป็นตัวช่วยให้ผู้ช่วยอัจฉริยะสามารถโต้ตอบและทำงานร่วมกับมนุษย์ พร้อมทั้งเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตามคำสั่งหรือเป้าหมายได้แบบเรียลไทม์ การนำ Agentic AI เข้ามาจึงถือเป็นการพัฒนาครั้งสำคัญที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย ลดต้นทุน เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และยกระดับคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในภาพรวมอีกด้วย

ด้วยศักยภาพที่มี Agentic AI จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายมิติของการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การวินิจฉัยโรคและการรักษา โดย Agentic AI สามารถวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ พร้อมส่งตรวจเพิ่มเติมหรือแจ้งเตือนแพทย์ทันทีเมื่อพบความผิดปกติ รวมถึงช่วยออกแบบแผนการรักษาแบบเฉพาะบุคคลซึ่งพิจารณาจากข้อมูลสุขภาพ ปัจจัยแวดล้อม และการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วย หรือ การดูแลผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล ด้วยการติดตามอาการ ปรับปริมาณยา และประสานงานกับทีมแพทย์เมื่อจำเป็น นอกจากนี้ Agentic AI ยังช่วยในการบริหารจัดการในโรงพยาบาล เช่น การคาดการณ์ความต้องการพัสดุและยา ตรวจสอบสต็อก และสั่งซื้อทดแทนโดยอัตโนมัติ หรือ การจัดการลำดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยในแผนกฉุกเฉิน ตลอดจนการจัดการงานแอดมิน ไม่ว่าจะเป็นการนัดหมาย การบันทึกเอกสารผู้ป่วย การเคลมประกัน การร่างจดหมายส่งต่อ ฯลฯ ซึ่งช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ทำให้มีเวลาในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมานี้ บริษัทชั้นนำทั่วโลกต่างเร่งพัฒนาและนำ Agentic AI มาใช้ ตัวอย่างเช่น Microsoft ที่ได้เปิดตัว Dragon Copilot ผู้ช่วย AI สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถสรุปบทสนทนาระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นบันทึกอัตโนมัติเพื่อช่วยลดงานเอกสารต่าง ๆ ขณะเดียวกัน Google ก็กำลังเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อให้แพทย์และนักวิจัยสามารถใช้ Agentic AI เพื่อช่วยในการทดลองและวิจัย การวินิจฉัยผู้ป่วย และการหาทางเลือกในการรักษา โดยล่าสุด Google ได้เปิดตัว TxGemma ซึ่งเป็นกลุ่มของโมเดลภาษาที่จะเข้ามาช่วยบริษัทยาในการค้นคว้าและพัฒนายาใหม่ ๆ หรือในประเทศไทยเองคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้มีความร่วมมือกับ IBM Client Engineering ในการพัฒนาโมเดลผ่าน watsonx.data และ watsonx.ai เพื่อยกระดับการทํางานของระบบปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือแล็บต่างๆ เข้าด้วยกันแบบครบวงจร เป็นต้น

แม้ว่า Agentic AI จะมีศักยภาพมหาศาล แต่ยังคงมีข้อจำกัดและความท้าทายที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลสุขภาพ ตลอดจนข้อกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดชอบในกรณีที่ AI ตัดสินใจผิดพลาดจนส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย แพทย์ผู้ดูแล หรือสถาบันทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากเรามุ่งเน้นการพัฒนา Agentic AI ให้เป็นผู้ช่วยเสริมศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์มากกว่าการทดแทน รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างนักพัฒนาเทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กำหนดนโยบาย ได้อย่างสมบูรณ์แบบก็อาจเป็นกุญแจสำคัญในการนำเทคโนโลยีมายกระดับระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน