บทความ
RECIPROCAL TARIFF
21/04/2568คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การประกาศนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านกฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศปี 1997 และกำหนดภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลกที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ นั้นได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก
นอกเหนือจากภาษีนำเข้าพื้นฐานแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ยังได้กำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้เพิ่มเติมกับ 86 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าหรือมีการกีดกันทางการค้าต่อสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศในอาเซียนตกเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องเผชิญอัตราภาษีในระดับสูง เช่น กัมพูชา (49%), สปป.ลาว (48%), เวียดนาม (46%), ไทย (37%), อินโดนีเซีย (32%), มาเลเซีย (24%) และฟิลิปปินส์ (17%) ส่วนประเทศพันธมิตรอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป (20%), อินเดีย (27%), เกาหลีใต้ (25%) และญี่ปุ่น (24%) ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
สถานการณ์ความไม่แน่นอนได้สร้างความผันผวนอย่างมากต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งทำให้เกิดการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ และการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีคำสั่งชะลอการขึ้นภาษีส่วน Reciprocal Tariff ไปก่อนเป็นเวลา 90 วันสำหรับประเทศส่วนใหญ่ ยกเว้นประเทศจีนที่ประกาศใช้มาตรการตอบโต้ที่เด็ดขาดต่อสหรัฐฯ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาต่อรองระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า อาทิ เวียดนามและกัมพูชาที่ประกาศจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่นอกจากประเด็นด้านการค้าและนโยบายภาษีแล้วยังเจรจาความร่วมมือในโครงการสำคัญ อาทิ โครงการพัฒนาท่อก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมการต่อและเดินเรือ แต่หลายประเทศก็ได้มีการประกาศมาตรการตอบโต้กลับโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศจีนที่ประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ ในอัตราที่เท่ากัน รวมถึงจะหยุดนำเข้าเนื้อไก่และจำกัดการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐฯ หรือประเทศแคนาดาและกลุ่มสหภาพยุโรปที่แม้ว่าจะพร้อมเจรจาแต่ในขณะเดียวกันก็ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมบางประเภทพร้อมกับการมุ่งเสริมสัมพันธ์กับตลาด Non-US อื่นๆ
มาตรการของสหรัฐฯ ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศและกระบวนการโลกาภิวัตน์ในหลายมิติ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลอว์เรนซ์ หว่อง ออกแถลงการณ์เตือนประชาชนถึงผลกระทบที่จะตามมาเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงก่อนสิงคโปร์จะประกาศยุบสภาเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม หรือองค์กรการค้าโลก (WTO) ที่ได้ประเมินถึงสถานการณ์การค้าโลกแบ่งขั้วแบบสุดโต่งว่าจะส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (Global Real GDP) ในระยะยาวลดไปถึง 7%
การประกาศมาตรการตอบโต้ดังกล่าวสร้างความกังวลอย่างมากในแวดวงเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยที่เป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ การเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้าจะทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและปริมาณการส่งออก โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป และสินค้าเกษตรบางประเภท ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีการพิจารณามาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งตั้งคณะทำงานเพื่อนำทีมเจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ อาทิ การพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในหมวดหมู่พลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร รวมถึงการยกเลิกหรือลดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี การตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ เป็นต้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อเตรียมตัว วางแผน และตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (บทความนี้อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน 2568)