ข่าวสารบริษัท

ความคืบหน้าการดูแลสุขภาพชุมชน และสิ่งแวดล้อมหลังเหตุการณ์ที่บริษัท แอลแอลไอที

12/02/2558

จากเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารโรงเก็บสินค้าของบริษัท แอลแอลไอที (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่าน บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าประสานงานกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) หน่วยงานท้องถิ่น และบริษัท แอลแอลไอที เพื่อควบคุมและดูแลความเรียบร้อยของสถานการณ์ต่ออีก 3 – 4 วัน โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงาน ภาครัฐ และองค์กรต่างๆ ในการลงพื้นที่ช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว อาทิ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี หน่วยสาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขาคันทรง นายอำเภอ ปลัดอำเภอและหัวหน้างานปกครองอำเภอปลวกแดง องค์การบริหารตำบลเขาคันทรง เทศบาลตำบลจอมพลเจ้าพระยา ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านหนองค้างคาว



ส่วนการดูแลด้านสุขภาพ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี ได้จัดชุดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าตรวจสุขภาพชาวบ้านในชุมชนเทศบาลตำบลจอมพลเจ้าพระยา และอบต.เขาคันทรง ในระหว่างวันที่ 3 และ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

และเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เหมราชฯ และกนอ. ยังได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เพิ่มเติม เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพแก่ชาวบ้านในชุมชนเขาคันทรง และเทศบาลตำบลจอมพลเจ้าพระยา โดยได้ตรวจเช็คสุขภาพชาวบ้านในชุมชนทั้งสอง พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลสุขภาพจากมลภาวะโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ตรวจพบเพียงอาการโรคสามัญทั่วไป และไม่มีรายงานผู้ป่วยหรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กนอ. ได้จัดรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ เข้าพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (Hemaraj ESIE) และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) (ESIE) ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในระยะ 3 กิโลเมตร ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโรงงาน ระหว่างวันที่ 2 - 3 กุมภาพันธ์ ทางกนอ. พบว่า ค่าแก๊สและสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน


ทั้งนี้ เหมราชฯ และทีมสิ่งแวดล้อมของเหมราช ยังได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศตามจุดต่างๆ ของนิคมฯ ผ่านศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม E:mc^2 โดยยังไม่ปรากฏค่าที่สูงเกินมาตรฐานแต่อย่างใด


นอกจากนั้น ทีมเหมราชฯ ยังได้เก็บตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงทั้ง 4 แห่ง เพื่อตรวจสอบสารเคมีปนเปื้อน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำเป็นระยะ โดยผลการตรวจสอบไม่พบสารเคมีปนเปื้อนในแหล่งน้ำของชุมชนแต่อย่างใด ในขณะเดียวกันเหมราชฯ ยังได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการภายในนิคมฯ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันเกิดเหตุอีกด้วย ซึ่งคุณภาพน้ำยังคงเป็นไปตามมาตรฐานปกติโดยไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
 


ทั้งนี้ เหมราชฯ ยังคงประสานความร่วมมือกับกนอ. และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเฝ้าติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อไป