文章
EEC & MRO
31/10/2018คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
อุตสาหกรรมการบินโลกมีการขยายตัวอย่างมากเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและการเพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดดของสายการบินต้นทุนต่ำเพื่อรองรับกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับรายได้ทางตรงของธุรกิจสายการบินจากปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มมากขึ้นแต่ที่จริงแล้วยังมีอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ นั่นคือ ธุรกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul หรือ MRO) เช่น งานซ่อมลำตัว (Airframe MRO) งานซ่อมชิ้นส่วน (Component MRO) งานซ่อมเครื่องยนต์ (Engine MRO) เพราะเครื่องบินเองก็ไม่ต่างจากยานพาหนะอื่นทั่วไปที่ต้องมีการซ่อมบำรุงชิ้นส่วนต่างๆ ตามสภาพและอายุการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดของอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค อาทิ ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เนื่องจากประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการด้าน MRO ที่ได้รับการรับรองและสามารถให้บริการได้อย่างครบวงจรจำนวนน้อย จึงสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมให้มีจำนวนผู้ประกอบการ MRO ภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวแคบ (Narrow-body) ที่สายการบินต้นทุนต่ำส่วนมากเลือกใช้และมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในอดีตอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยประสบปัญหาข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งด้านกฎระเบียบ เช่น การกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ ความไม่ชัดเจนของนโยบายด้านอุตสาหกรรมอากาศยานที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือในอุตสาหกรรม รัฐบาลจึงมุ่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการแก้ไขกฎระเบียบข้อจำกัดด้านการร่วมทุนต่างๆ รวมถึงการบรรจุอุตสาหกรรมการบินเป็นหนึ่งใน New S-Curve และกำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI บนพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (Eastern Airport City หรือ EECa) ตลอดจนกำหนดโครงการพัฒนาศูนย์ MRO ที่พร้อมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิตระดับโลกอันจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงอากาศยานของไทยให้เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายยังเป็นกังวลคือ การฝึกฝนและพัฒนาวิศวกรและช่างซ่อมบำรุงด้านการบินเพื่อให้ผ่านหลักสูตรการซ่อมบำรุงอากาศยานจากหน่วยงานควบคุมระดับโลก เช่น สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration หรือ FAA) ของสหรัฐฯ และองค์กรการบินของสหภาพยุโรป (European Aviation Safety Agency หรือ EASA) ของประเทศในยุโรป เป็นต้น เนื่องจากธุรกิจ MRO เป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงวิศวกรและช่างซ่อมบำรุงที่ได้รับการรับรองเป็นจำนวนมากในการตรวจสอบหรือทดสอบสภาพรวมถึงบุคลากรเหล่านั้นจำเป็นต้องมีทักษะด้านภาษาที่ดี ซึ่งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างระบบนิเวศของการเรียนการสอนและการฝึกฝนเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะจนได้รับการรับรองตามข้อกำหนดของหน่วยงาน FAA และ EASA เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น
การเร่งดำเนินการโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้กลายเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 และการผลักดันโครงการมหานครการบินภาคตะวันออกภายในพื้นที่ EEC จึงเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ MRO ของไทยที่จะพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการสูญเสียรายได้จากการที่ต้องส่งอากาศยานไปซ่อมบำรุงนอกประเทศ ทั้งยังเป็นการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุน และเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญของภูมิภาคต่อไปในอนาคต
บทความนี้ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันพุธที่ 31 ตุลาคม 2561