文章

DEMAND-DRIVEN EDUCATION

07/10/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อโลกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว การปรับตัวเพื่อเพิ่มทักษะจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตและการทำงานในศตวรรษที่ 21 จึงกลายเป็นหัวใจของความสำเร็จที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ โดยแนวคิดทักษะแห่งอนาคตใหม่นั้นก็ครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นความรู้/ ความชำนาญ (Skills) และการมีทัศนะคติ (Mindset) ที่เอื้อให้สามารถปรับตัวเข้ากับโลกยุคดิจิทัล ที่การเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยี การแข่งขัน เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมๆ กันก็ส่งผลทำให้เกิด VUCA World ที่เต็มไปด้วยความผันแปร ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือนั่นเอง

เมื่อทักษะจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในยุคใหม่แตกต่างไปจากเดิม การผลิตบุคลากรที่มีความรู้และพร้อมไปด้วยทักษะแห่งอนาคตจึงเป็นความท้าทายของระบบการศึกษาดั้งเดิมทั้งในส่วนการเรียนการสอนในระบบ (Formal Education) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งจากการศึกษา Best Practice ในต่างประเทศ ผู้เขียนพบว่าหลายประเทศมีแนวปฏิบัติที่น่าสนใจ อาทิเช่น ประเทศสิงคโปร์มีการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะแรงงาน (SkillsFuture) ร่วมกับการจัดทำแผนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม (Industry Transformation Map) ทำให้จำนวนและทักษะของแรงงานสิงคโปร์สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว รวมถึง Dual Vocational Training ของประเทศเยอรมัน และสถาบัน KOSEN ของญี่ปุ่นที่เน้นการพัฒนาบุคลากรสายอาชีวะตามแนวทางการศึกษาแบบคู่ขนานที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติงานจริง เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวสู่การพัฒนาประเทศตามแนวทาง Thailand 4.0 ที่มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตโดยการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมสมัยใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและรายได้ประชากรให้สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกลไกเศรษฐกิจของประเทศก็ย่อมส่งผลต่อความต้องการแรงงาน วิธีการทำงาน รวมถึงการเกิดขึ้นของอาชีพและทักษะงานรูปแบบใหม่ ทั้งนี้โครงการ EEC เองก็ประมาณการความต้องการบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเฉพาะทาง อาทิ ดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ภายใน 5 ข้างหน้าไว้รวมกว่า 475,000 อัตราซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาและยกระดับการศึกษาให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเฉพาะทาง

ปัจจุบันภาครัฐและสำนักงาน EEC ต่างก็เร่งพัฒนาระบบการศึกษาให้สามารถผลิตแรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของฝ่ายอุตสาหกรรมผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ อาทิ การจัดตั้งศูนย์ EEC Human Development Center เพื่อเป็นตัวกลางระหว่างภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษาทั้งระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาที่อยู่ใน/นอกพื้นที่ EEC ตลอดจนเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบด้านการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ รวมถึงโครงการสัตหีบโมเดล ที่มุ่งสร้างบุคลากรสายอาชีวะเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้นให้มีการฝึกปฏิบัติงานจริงควบคู่ไปกับการเรียนการสอน

ตลอดจน ภาคเอกชนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพการศึกษา ตัวอย่างเช่น WHA Group ก็มีความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะเพื่อจัดทำโครงการ Dual Vocational Education (DVE) ที่มีวัตถุประสงค์การพัฒนาระบบการศึกษาแบบทวิภาคีโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในระหว่างเรียน รวมถึงโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงแรงงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรและยกระดับทักษะฝีมือแรงงานในพื้นที่ EEC อีกด้วย

ความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลนับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาที่มุ่งเน้นผลิตแรงงานที่สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน ตลอดจนช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวอย่างแท้จริงนั่นเอง