文章
2565 ทิศทาง โอกาส และความท้าทาย
23/02/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปี 2564 ที่ผ่านพ้นไปก็นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับความท้าทายต่อเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งแม้ว่าอัตราการเสียชีวิตในหลายประเทศจะมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว แต่ปี 2565 ก็ยังคงเป็นปีที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสช่วงต้นปีเช่นนี้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ทิศทาง และเหตุการณ์ที่น่าสนใจในช่วงนี้ค่ะ
(1) ภาวะการส่งเสริมการลงทุนของไทยปี 2564
ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 มีจำนวน โครงการรวม 1,674 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยคำขอรับการส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมียอดเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ตลอดจนอุตสาหกรรม BCG อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท สำหรับยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวม 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 4.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 163% จากปี 2563 โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริม 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น (17.7%) รองลงมา คือ จีน (8.5%) และสิงคโปร์ (6.5%) ตามลำดับ
ยอดขอรับการส่งเสริมและ FDI ที่ไหลเข้าประเทศในช่วงปีที่ผ่านมาจึงเป็นผลสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลกเป็นอย่างดี ทั้งการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนตามยุทธศาสตร์ China Plus One รวมถึงการที่ผู้ประกอบการต่างมุ่งปรับห่วงโซ่อุปทานของตนให้มีความทนทาน (Resilience) ด้วยการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศปลายทางที่ใกล้กับแหล่งผลิต/ ตลาดผู้บริโภค หรือหลายประเทศที่มีศักยภาพภายในภูมิภาคเดียวกันแต่ยังคงสามารถเชื่อมต่อถึงกันด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ
(2) แนวโน้มและเหตุการณ์สำคัญปี 2565
ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา WHA Group ได้มีการประกาศแผนธุรกิจประจำปี 2565 ภายใต้ธีมงาน “Sustainable Growth Through Digitization” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสามารถสรุปถึงโอกาสและปัจจัยท้าทายของปี 2565 ไว้อย่างน่าสนใจ ได้แก่ (1) COVID-19 ที่มีแนวโน้มลดความรุนแรงลง รวมถึงการที่ผู้คนทั่วโลกเรียนรู้และปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับเชื้อไวรัสด้วยการเข้ารับการฉีดวัคซีน การตรวจ ATK อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการใส่ใจและรักษาสุขภาพ เช่น การสวมใส่หน้ากาก การล้างมือ การอยู่บ้าน การรักษาระยะห่าง (2) ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐฯและจีนที่ต่างตอบโต้แข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและการค้า เทคโนโลยี และการทหารที่ยังคงยืดเยื้อและมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อกันทั้งสองฝ่าย ตลอดจนสถานการณ์ในยุโรปตะวันออกที่ล่าสุดยังมีความเปราะบางระหว่างกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และประเทศรัสเซียที่มียูเครนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้ง (3) Technology Trend การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้น เช่น Quantum Computing, 5G, Metaverse รวมถึง Disruptive Technology อื่นๆ อาทิ Blockchain, Edge Computing ฯลฯ (4) Green Planet นโยบายด้านความยั่งยืน (Sustainable Development) และการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นเป้าหมายซึ่งประเทศและองค์กรทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ
สำหรับประเทศไทยก็เริ่มเห็นสัญญาณบวกเนื่องจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและเงินทุนเข้ามาในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องจับตาก็ยังคงมีอยู่จากทั้งการระบาดของโอไมครอน ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ รวมถึงตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้าและพลังงาน เป็นต้น