文章
EV ADOPTION IN LOGISTICS SECTOR
20/03/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมนั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและนำมาซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกันกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมจึงเป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสำคัญในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาตามรายอุตสาหกรรมจะพบว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ผลิตและปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสภาพภูมิอากาศขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นลำดับต้นๆ จากข้อมูล Climate Watch ของ World Resource Institute ระบุว่า อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดโดยการขนส่งทางถนนคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด
ซึ่งอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เองก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและมีความพยายามในการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้เพื่อยกระดับกระบวนการทำงานและพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามแนวทางความยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของประชาคมโลก รวมถึงกฎ ระเบียบ และเกณฑ์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยหนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้น การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถพลังงานไฟฟ้าของอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์นั้นมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมของนักลงทุนที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การใช้รถพลังงานไฟฟ้ายังสามารถช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจให้กับบริษัทจากการลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและการบำรุงรักษา อีกทั้งยังสามารถช่วยลดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของหลายประเทศที่มีความเข้มข้นขึ้น เช่น การเรียกเก็บภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Tax) ฯลฯ ซึ่งจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากธุรกิจไม่มีการปรับตัวอีกด้วย
ในปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และบริษัทที่มีการดำเนินงานโลจิสติกส์ภายในบริษัทเองต่างก็มีการวางกลยุทธ์และทิศทางขององค์กรเพื่อนำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ธุรกิจขนส่งยักษ์ใหญ่อย่าง FedEx ที่ตั้งเป้าเปลี่ยนรถที่ใช้ส่งของทั้งหมดให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2040 อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนสร้างสถานีชาร์จ ตลอดจนสร้างร่วมมือกับบริษัทสาธารณูปโภคเพื่อพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่ยั่งยืนมากขึ้น หรือ ผู้ให้บริการ โลจิสติกส์แบบครบวงจรอย่าง MAERSK ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยหนึ่งในกิจกรรมหลักคือการนำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ขนส่งพัสดุในเขตเมือง หรือ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง IKEA ที่ประสบความสำเร็จในการนำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ส่งสินค้าในเมืองนิวยอร์กได้ 100% และต่อยอดความสำเร็จโดยตั้งเป้าเปลี่ยนรถส่งสินค้าทั้งหมดภายในปี 2025 เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการนำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะมีทิศทางการเติบโตที่ดี แต่การจะยกระดับไปสู่ โลจิสติกส์แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์แบบนั้น ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงต้องปลูกฝังให้ประชาชนตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอันจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญที่ให้ภาคธุรกิจเร่งดำเนินงานภายใต้แนวคิดโลจิสติกส์แบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริงนั่นเอง