文章

EEC PROGRESS AND THE PATH AHEAD

03/07/2023

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากในฐานะ World-class Economic Zone ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง โดยมุ่งเน้นการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่าผ่านการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา

โดยจากการดำเนินงานของโครงการตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ผลักดันให้เกิดการลงทุนรวมสูงถึง 2 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายตั้งต้นที่ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการดำเนินการตามแผนงานของโครงการทั้ง 4 ระยะ อันประกอบด้วย (1) การประกาศ พรบ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (2) การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มูลค่ารวมกว่า 6.6 แสนล้านบาท ที่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบังและโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งปัจจุบันทั้ง 4 โครงการกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างและคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2570

(3) ด้านการลงทุน จากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนภายในพื้นที่ EEC ช่วงระหว่างปี 2561 จนถึงปี 2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.25 ล้านล้านบาท (คิดเป็น 52% ของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมทั้งประเทศ) แบ่งเป็นเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเดิม 40% อุตสาหกรรมใหม่ 30% และอุตสาหกรรมอื่นๆ 30% โดยเป็นมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) 53% ซึ่งมีประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรกด้วยสัดส่วน 14% 11% และ 4% ตามลำดับ (4) การขยายการลงทุนสู่พื้นที่และพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ตามแผนบูรณาการ EEC ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับภารกิจสำคัญของ EEC ต่อจากนี้จะเป็นการขับเคลื่อนแผนการลงทุนในช่วงปี 2566-2570 ซึ่งมีเป้าหมายในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ประเทศเป็นจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท โดยมีนโยบายการดำเนินงานที่เน้นการพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเมืองการบินภาคตะวันออกและการพัฒนาพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหลัก คิดเป็นมูลค่ารวม 2 แสนล้านบาท (2) การผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์และสุขภาพ การขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนรวมปีละ 4 แสนล้านบาท และ (3) การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนและประชาชนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบสาธารณสุขและการแพทย์ การยกระดับทักษะบุคลากร เป็นต้น

การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลักดันให้โครงการ EEC ประสบความสำเร็จในระยะเริ่มต้นและสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การรักษาระบบนิเวศให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญต่อจากนี้ เพื่อขยายผลความสำเร็จของโครงการในระยะยาวอันจะทำให้ EEC สามารถเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคได้อย่างแท้จริงนั่นเอง