文章

SUSTAINABLE PLASTIC LIFE CYCLE

17/06/2024

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

แม้ "พลาสติก" จะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่การจัดการขยะพลาสติกยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไข ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากสหประชาชาติระบุว่า ร้อยละ 79 ของขยะพลาสติกโลกถูกฝังกลบ ทำให้ดินและน้ำปนเปื้อนสารพิษอันเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นมนุษย์ยังทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลด้วยปริมาณมากถึง 8 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้ร้อยละ 85 ของขยะในทะเลเป็น “ขยะพลาสติก” ที่สร้างความเดือดร้อนและทำลายระบบนิเวศของสัตว์น้ำ ดังนั้น นานาชาติจึงกำลังเร่งแก้ไขปัญหานี้ โดย "เทคโนโลยีจัดการขยะ" ถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขประตูสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี การจัดการขยะจัดเป็นกระบวนการซับซ้อนที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อกำจัดขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทั้งกระบวนการ โดยเริ่มต้นจากลดการสร้างขยะผ่านการผลิตและใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการจัดการขยะที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ระบบ IoT Sensor ติดตั้งภายในถังจัดเก็บเพื่อช่วยในการคัดแยกขยะพลาสติกออกจากขยะประเภทอื่นตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงสามารถตรวจวัดปริมาณขยะ และแจ้งเตือนเมื่อถังใกล้เต็มเพื่อนำข้อมูลให้ AI ช่วยวิเคราะห์และวางแนวทางการจัดการอย่างเหมาะสม นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยี Blockchain ที่ช่วยติดตามห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์พลาสติกตั้งแต่กระบวนการผลิต เก็บคืน แปรรูป รีไซเคิลอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ Robotics & Automation ในการคัดแยก ทำความสะอาด บีบอัดขยะพลาสติกซึ่งช่วยลดทั้งเวลาและพื้นที่จัดการ ตลอดจนการใช้หุ่นยนต์ที่สามารถช่วยกำจัดขยะในทะเลที่เข้าถึงยากได้ด้วย แต่กระนั้น การจัดการขยะพลาสติกอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและจำเป็นต้องหาแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเหมาะสม

เมื่อทราบแนวทางจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราสามารถก้าวไปอีกขั้นด้วยการแปรรูปพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ การแปรรูปขยะพลาสติกเป็น "อิฐ" ที่เหมาะสำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ห่างไกลหรือตามหมู่เกาะต่าง ๆ ที่การคมนาคมเข้าถึงได้ยาก เพราะอิฐพลาสติกขนส่งสะดวกและน้ำหนักเบากว่าอิฐทั่วไป นอกจากนี้เรายังสามารถแปรรูปขยะพลาสติกเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าหรือผลิตน้ำมันชีวภาพขั้นสูงที่ใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล (Waste to Energy) หรือแม้กระทั่งการต่อยอดไปสู่แนวคิดลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) อย่างเช่นนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรับประทานได้ (Edible Packaging) ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีในการลดการใช้พลาสติกภายใต้แนวคิดสมัยใหม่ว่า “การลดระยะเวลาย่อยสลายพลาสติกที่เร็วที่สุด อาจเป็นการพยายามบริโภคพลาสติกให้ได้อย่างปลอดภัย” ตัวอย่างเช่น แคปซูลน้ำดื่มจากสาหร่ายที่ช่วยลดการใช้ขวดพลาสติกในงานวิ่งมาราธอน หรือฟิล์มห่ออาหารทำจากเซลลูโลสในพืชที่ทำให้เด็ก ๆ สามารถรับประทานขนมได้ทั้งห่ออย่างปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ

การใช้เทคโนโลยีในการช่วยจัดการปัญหาพลาสติกล้นโลก ตลอดจนการนำขยะพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าต่าง ๆ ไม่เพียงช่วยลดความรุนแรงของปัญหาขยะพลาสติก แต่ยังสร้างมิติใหม่ให้กับวงการธุรกิจทั่วโลก ในอนาคตอันใกล้เราอาจเห็นพลาสติกเป็น "โอกาส" มากเสียกว่าเป็น "อันตราย" และการร่วมมือผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจังของทุกฝ่าย จะทำให้อนาคตที่ยั่งยืนเป็นไปได้ เพราะอนาคตที่ยั่งยืนอาจไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ขึ้นอยู่กับความสามัคคีร่วมใจเพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตสู่ความยั่งยืนของทุกภาคส่วน