Articles

EEC & BIO ECONOMY

17/10/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน

ภาคการเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมาอย่างยาวนานทำให้แรงงานกว่าร้อยละ 30 ของประเทศเป็นแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาข้อมูลสถิติพบว่า ในปี 2560 มูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคการเกษตรคิดเป็นเพียงร้อยละ 9 ของ GDP ทั้งประเทศเท่านั้น การเพิ่มรายได้ของเกษตรกรโดยการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชผลทางการเกษตรซึ่งโดยพื้นฐานเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ หรือ commodity ที่เกษตรกรไม่ได้มีอำนาจในการกำหนดราคาจึงเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและช่วยลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมๆ กัน

เมื่อพิจารณาบริบทของประเทศไทยพบว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีความหนาแน่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspot) สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และเพื่อต่อยอดความได้เปรียบดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดอุตสาหกรรมชีวภาพให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และตั้งเป้าผลักดันประเทศไทยให้เป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนและช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน โดยนำมาใช้เป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่หลากหลายในกลุ่ม Bioplastic, Biochemical และ Biopharmaceutical

โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง เขตพื้นที่นครสวรรค์และกำแพงเพชร และเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นจึงเป็น 3 พื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย การจัดตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Biopolis) ควบคู่ไปกับศูนย์วิจัยและพัฒนาจะเป็นการช่วยยกระดับห่วงโซ่การผลิตของภาคการเกษตรอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อาทิ การส่งเสริมให้เกิดการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมวิจัยเข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร การทำการเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Farming) การเกษตรแปลงใหญ่ และการนำเทคโนโลยีต่างๆ เช่น IoTs หรือ Drones เข้ามาใช้ในภาคการเกษตร ตลอดจนสนับสนุนการแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงไปจนถึงการทำการตลาดผ่านการสร้างตราสินค้า และกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์สำหรับสินค้าชีวภาพเพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาในภาคการเกษตรที่เชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการอันจะก่อให้เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงจึงน่าจะต้องเริ่มต้นด้วยการปรับทัศนะคติ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของพวกเราที่ถูกปลูกฝังกันมาอย่างยาวนานนับศตวรรษว่าประเทศไทยปลูกอะไรก็ขึ้นมีทรัพย์ในดินสินในน้ำไปเป็นว่า สภาพแวดล้อมทุกวันนี้ไม่เป็นมิตรเหมือนแต่ก่อน หากเรายึดถือความเคยชินจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่ใช้น้ำมากปุ๋ยเยอะเพื่อผลิตผลสินค้า commodity ต้นน้ำที่ราคาถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทานของตลาด ประเทศไทยคงเป็นได้แค่เพียงผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่ง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มุ่งที่จะเปลี่ยนอ้อยให้กลายเป็นเอทานอลหรือเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ แปรรูปมันสำปะหลังให้เป็นเคมีภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง ตลอดจนไม่ได้ใช้ศักยภาพของประเทศในการเป็นฐานการผลิตยางรถยนต์หรือล้ออากาศยานที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลแทนการส่งออกน้ำยางดิบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  หากพวกเราทุกคนไม่เริ่มต้นโดยการปรับทัศนะคติก้าวออกจากกรอบแนวความคิดหรือความเคยชินแบบเดิมๆ เสียก่อน