Articles
EEC & The Belt and Road Initiative
10/10/2018คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากการประเมินมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่าง ๆ ในปี 2560 โดยธนาคารโลก (World Bank) พบว่า หากจัดอันดับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม ณ ราคาปัจจุบัน 5 อันดับแรกประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน และ ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่คำนวณตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (Purchasing Power Parities หรือ PPPs) พบว่า จีนแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง และอินเดียแซงญี่ปุ่นและเยอรมันขึ้นมาเป็นอันดับสาม จึงสามารถกล่าวได้ว่า ปัจจุบันจีนกลายเป็นมหาอำนาจซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว
การขยายอิทธิพลของจีนผ่านยุทธศาสตร์ The Belt and Road Initiative (BRI) จึงทำให้สมดุลทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยจีนได้ใช้ภาพลักษณ์ของเส้นทางสายไหมในอดีตซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศพันธมิตรในแถบน่านน้ำต่าง ๆ เพื่อทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามเนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ทางการค้าและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม BRI จึงเป็นโครงการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกและจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกใหม่ รวมถึงเป็นเครื่องมือของจีนในการเข้าสู่ประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ตลอดจนการเชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน
ความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาคและมีพรมแดนติดต่อกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ทำให้ไทยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จีนใช้มณฑลยูนนานเป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศอาเชียนใน 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 1 Eastern Route เส้นทางรถไฟจีน-เวียดนาม จากคุนหมิง-ยวี่ซี-เหอโข่ว เข้าเวียดนามผ่าน หล่าวกาย-ฮานอย เส้นทางที่ 2 Western Route เส้นทางรถไฟจีน-พม่า จาก คุนหมิง-ต้าหลี่-รุ่ยลี่ เข้าพม่าผ่าน ลาเชียว-มัณฑะเลย์-มาเกว-จ็อกผิ่ว และ เส้นทางที่ 3 Central Route เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย จากคุนหมิง-บ่อหาน เข้าลาวที่เมืองบ่อเต็น-หลวงน้ำทา-หลวงพระบาง-วังเวียง-เวียงจันทน์ ก่อนเข้ามายังจังหวัดหนองคายของไทยโดยทั้ง 3 เส้นทางจะมาบรรจบกันที่กรุงเทพฯ ก่อนผ่านภาคใต้ไปสู่ประเทศมาเลเซีย แม้ว่ารัฐบาลของ ดร.มหาธีร์จะประกาศระงับโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ ไปจนปี 2563 แต่จีนก็ได้มีการเจรจาเตรียมการลงทุนท่าเรือพอร์ตกลัง (Port Klang) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมาเลเซียไว้เช่นกัน
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเปิดโอกาสทางการค้าการลงทุนในหลายมิติให้กับประเทศไทยโดยเส้นทางรถไฟความเร็วสูงถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับพื้นโครงการ EEC บริเวณอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี และมีจุดเชื่อมเพื่อตัดเส้นทางเข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการ EEC และเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่รัฐบาลไทยวางแผนเตรียมการก่อสร้างไว้แล้ว ซึ่งเมื่อโครงการต่างๆ พัฒนาแล้วเสร็จก็จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การลงทุน และการขนส่งที่สำคัญเชื่อมโยงจีน กลุ่มประเทศ CLMV และภูมิภาคอาเซียนเข้าไว้ด้วยกันในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค การเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกต้องเป็นไปในลักษณะการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกหลักของกลุ่มอาเซียนจึงควรต้องเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้นำเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือตามวิถีอาเซียน สร้างความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นมิตรระหว่างชาติมหาอำนาจกับกลุ่มประเทศสมาชิกทั้งหลาย