Articles
CYBERSECURITY
28/11/2018คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างมาก การเข้าถึง Internet สามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา และกลายเป็นส่วนสำคัญของการดำรงชีวิต ซึ่งสิ่งที่ตามมากับความก้าวหน้าของโลกดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ อันตรายรูปแบบใหม่ หรืออาชญากรรมไซเบอร์ที่มีแนวโน้มจะขยายตัว มีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างทั้งในระดับตัวบุคคล องค์กรธุรกิจ จนถึงระดับประเทศ
จากการศึกษารายงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โลก หรือ Global Cybersecurity Index (GCI) ที่จัดทำโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติเพื่อสำรวจความพร้อมการรับมือปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ 164 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560-2561 พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 22 อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสถานะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับกลางหรือเติบโตแล้วเหนือกลุ่มประเทศระดับเริ่มต้น โดยประเทศที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย โอมาน และเอสโตเนีย ตามลำดับ
ทุกวันนี้มีตัวอย่างของอาชญากรรมทางไซเบอร์มากมายซึ่งสถิติจากสถาบันวิจัยทั่วโลกต่างรายงานตรงกันว่า การโจมตีมักมุ่งเน้นเป้าหมายที่จะมีผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมและการโจมตีทางไซเบอร์จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรงและจำเป็นต้องกำหนดมาตรการในการป้องกันภัยคุกคามดังกล่าว ซึ่งโครงการ EEC เองก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นโดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งภายใต้โครงการ Digital Park Thailand หรือ EECd ที่มีเป้าหมายด้านการพัฒนาระบบนิเวศความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อนำไปสู่การสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยในการทำวิจัยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะจำเป็นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการเอกชนต่างๆ
เนื่องจากภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้เป็นภัยอันตรายที่เกี่ยวโยงทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง รัฐบาลจึงกำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายกระทรวง และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งการดำเนินการเชิงรุกโดยคณะกรรมการฯ จะทำให้เกิด Cybersecurity Framework เพื่อเป็นแนวทางการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และรับมือกับสถานการณ์ด้านภัยคุกคามไซเบอร์ของประเทศ นอกจากนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเองก็อยู่ระหว่างการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีและรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในอนาคต Cybersecurity จึงกลายเป็นอีกหนึ่งวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ ซึ่งหากประเทศไทยต้องการเป็น Digital Hub ของภูมิภาคนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งผลักดันเรื่อง Cybersecurity ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องจาก Cybersecurity จะเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ นอกเหนือจากปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการดำเนินการตามนโยบายและการบังคับใช้กฎหมายที่กำหนดไว้ยังต้องขึ้นอยู่กับความตระหนักถึงภัยอันตราย ความรู้ความเข้าใจ และการยอมรับของผู้ใช้งานเทคโนโลยีอันจะทำให้การบริหารจัดการกับภัยคุกคามไซเบอร์สัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง ส่วนผู้ใช้งานเองก็ควรต้องหมั่นศึกษาหาความรู้และติดตามข่าวสารหรือข่าวเตือนภัยต่างๆ รวมถึงใช้งานเทคโนโลยีอย่างระมัดระวังและมีสติเพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองต้องตกเป็นเหยื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ด้วยเช่นเดียวกัน