Articles
“O” to “O”
05/12/2018คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
หลายปีมานี้ธุรกิจ E-Commerce เป็นเทรนด์ใหม่ของธุรกิจออนไลน์ที่เข้ามา disrupt แย่งส่วนแบ่งการตลาดและทำให้ธุรกิจห้างสรรพสินค้าออฟไลน์และร้านค้าดั้งเดิมต่างๆ ต้องปรับตัว หนึ่งในนั้น คือ Walmart ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของโลกที่ใช้กลยุทธ์ Offline to Online ทุ่มเทเงินลงทุนเข้าซื้อกิจการออนไลน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบริษัท E-Commerce ทั้งหลาย
เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้าธุรกิจก็ต้องหมุนไปเช่นเดียวกัน ในทางตรงกันข้าม บริษัท E-Commerce ที่เป็นเจ้าของ Platform ดิจิทัลต่างๆ ก็ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำคุณสมบัติการมีสาขาหน้าร้านหรือ Infrastructure ของธุรกิจออฟไลน์เข้ามาผสมผสานกับ Platform ออนไลน์เดิม เกิดเป็นโมเดลธุรกิจแบบ Online to Offline ซึ่งเป็นการขยายโลกธุรกิจออนไลน์ที่อยู่บน Platform ย้อนกลับมารวมกับธุรกิจออฟไลน์ที่มี Infrastructure อย่างครบวงจรเช่นเดียวกัน
ผู้นำโมเดลธุรกิจ O2O ในประเทศจีนก็คือ บริษัท E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba Group ที่เมื่อสามปีก่อนได้ประกาศแนวคิด “New Retail” โดยนำมาใช้กับห้างสรรพสินค้าเหอหม่าที่รวมแพลตฟอร์มของ Alibaba อาทิ Tmall, Alipay, Cainiao (โลจิสติกส์) ไว้ด้วยกัน การเชื่อมต่อ platform ทั้งธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ทำให้ Alibaba สามารถนำข้อมูลประวัติการสั่งซื้อของลูกค้าในทุกช่องทางไปวิเคราะห์ต่อยอดเพื่อเสนอสินค้าและบริการแบบเฉพาะเจาะจง รวมถึงสามารถรวบรวมคำสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากเพื่อส่งให้กับผู้ผลิตที่อยู่บน Tmall ดังนั้น New Retail ของ Alibaba จึงได้เชื่อมโยงระบบนิเวศของ 1. การซื้อสินค้าในโลกออนไลน์และออฟไลน์ 2. การจ่ายชำระเงิน 3. ระบบโลจิสติกส์ และ 4. การใช้ประโยชน์จากข้อมูลผู้บริโภค (Big Data) ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ
สำหรับสหรัฐอเมริกากระแสธุรกิจ O2O ก็มาแรงไม่แพ้กัน นอกจากการเปิดตัว “Amazon Go” ที่เป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI มาปรับใช้กับร้านสะดวกซื้อ เมื่อปีที่แล้ว Amazon ได้เข้าซื้อกิจการ Whole Foods Market ผู้จำหน่ายสินค้าออแกนิค และอาหารสดรายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งการควบรวมกิจการดังกล่าวคิดเป็นมูลค่ากว่า 13.7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐและนับเป็นข้อตกลงธุรกิจใหญ่ที่สุดของ Amazon ตั้งแต่ทำธุรกิจมา โดย Amazon ตั้งเป้าขยายธุรกิจมายังร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม ผ่านสาขาของ Whole Foods Market กว่า 400 แห่งทั่วประเทศเพื่อสนับสนุน “Amazon Fresh” ซึ่งเป็นบริการสั่งซื้อ-จัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารสดทางออนไลน์อันจะเป็นการพลิกโฉมวงการค้าปลีกของสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน
ผู้ประกอบการของไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันในยุค “O” to “O” ไม่ว่าจะเป็น Offline to Online หรือ Online to Offline ที่สลับกันไปมานี้ได้ ซึ่งมาตรการส่งเสริมต่างๆ ของโครงการ EEC ก็จะช่วยดึงดูดบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิเช่น E-Commerce, Digital Content, Data Center, Cloud Computing ฯลฯ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศอันจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ ตลอดจนช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยไปพร้อมกันโดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ รวมถึงส่งเสริมให้มีการนำข้อมูล หรือ Big Data มาวิเคราะห์เพื่อให้สามารถเข้าใจผู้บริโภคและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น
เมื่อการอยู่เฉยๆ เท่ากับการถอยหลัง ผู้ชนะอย่างแท้จริงในการแข่งขันยุคดิจิทัลจึงจำเป็นต้องหมั่นศึกษา ค้นหาแนวคิด จัดเตรียมเครื่องมือรวมถึงกำหนดกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามสภาวะการแข่งขันที่ไม่เคยหยุดนิ่งในโลกยุคดิจิทัลนั่นเอง