Articles

EEC & Digital Economy and Society

03/10/2018

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

Digital Economy and Society หรือ เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล คือ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ดังนั้น การพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมๆ กับการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายความเจริญโดยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ อันจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ

ตัวอย่างของกลุ่มประเทศในยุโรปที่มีการจัดทำ Digital Economy and Society Index (DESI) เพื่อเป็นกรอบมาตรฐานในการวัดและเปรียบเทียบความก้าวหน้าและความสำเร็จของการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ปัจจัยหลักได้แก่ (1) Connectivity (2) Human Capital (3) Use of Internet (4) Integration of Digital Technology และ (5) Digital Public Service ซึ่งเมื่อพิจารณากรณีของประเทศไทย ผู้เขียนพบว่า ตัวชี้วัดเหล่านี้สามารถใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยด้านทุนมนุษย์ หรือ การพัฒนาประชากรให้มีทักษะที่จำเป็นในการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อาทิ ทักษะพื้นฐานของบุคลากรเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ตลอดจนทักษะอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลต่างๆ อาทิ การค้าขายผ่านระบบออนไลน์ การรับบริการและการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ เป็นต้น

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเทคโนโลยีมีการเติบโตและเข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน ทักษะในการนำเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญ องค์กร ECDL ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสหภาพยุโรป (EU) ได้แบ่งระดับการพัฒนาทักษะด้าน IT ของประชาชนออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่ 1 Digital Awareness เป็นการใช้ทักษะดิจิทัลทั่วไปซึ่งรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้งานและรู้เท่าทันจนมีความมั่นใจในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ระดับที่ 2 Digital Literacy เป็นระดับที่แรงงานควรมีในการทำงาน โดยภาคการศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวะศึกษา และอุดมศึกษาควรผลักดันให้มีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมความพร้อมของนักเรียนนักศึกษาก่อนก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน ระดับที่ 3 Digital Competence เป็นระดับที่มีความซับซ้อนสำหรับงานทั่วไป เช่น การจัดทำเอกสาร การจัดการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และ ระดับที่ 4 Digital Expertise เป็นทักษะดิจิทัลขั้นสูง สำหรับงานที่เฉพาะเจาะจง เช่น การจัดทำรายงานขั้นสูง การบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น จากการเปิดเผยข้อมูลของ ECDL ตั้งแต่ปลายปี 2559 พบว่า ระดับ Digital Literacy ของประชากรไทยเท่ากับ 11% ในขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นผู้นำด้าน IT ของภูมิภาคมีระดับ Digital Literacy สูงถึง 80% หรือแม้แต่มาเลเซียเองก็ยังมีระดับ Digital Literacy อยู่ที่ 40% การยกระดับความสามารถด้านดิจิทัลของบุคลากรชาวไทยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอันเป็นรากฐานของการปฏิรูปประเทศตามแนวทางประเทศไทย 4.0

ผู้เขียนมักพูดอยู่เสมอๆ ว่า ภาษาที่จำเป็นสำหรับโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้ คือ ภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาษาที่เยาวชนควรได้รับการปลูกฝัง ความเข้าใจและทักษะความสามารถในการใช้และสื่อสารผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงกลายเป็นทักษะการอ่านออกเขียนได้แห่งยุคใหม่ไปเสียแล้ว เนื่องจากทักษะการสื่อสารของยุคปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่เพียงภาษาพูดของมนุษย์อีกต่อไป