Articles
FOOD FOR THE FUTURE
16/01/2019คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่จากการเพิ่มขึ้นของประชากรโดย UN คาดการณ์ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มจำนวนจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 7.3 พันล้านคนเป็น 8.5 พันล้านคน ในปี ค.ศ. 2030 และ 11.2 พันล้านคนในปี ค.ศ. 2100 ทำให้มีแนวโน้มที่จะขาดแคลนทรัพยากรโดยเฉพาะอาหารเนื่องมาจากปริมาณความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น
จากการที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีรากฐานมาจากภาคการเกษตรเป็นระยะเวลานานทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารคุณภาพดี และมีชื่อเสียงโด่งดังแห่งหนึ่งของโลกโดยในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 6% ของ GDP ทั้งประเทศ แต่เมื่อโลกหมุนไปอุตสาหกรรมอาหารก็ต้องมีวิวัฒนาการเช่นเดียวกัน อาหารแห่งอนาคตเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากเพราะเป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการอาหารที่รับประทานได้สะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย นานาประเทศจึงต่างเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของตนให้ก้าวหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต รวมถึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากลุ่มอาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic Food) อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ (Functional Food) อาหารทางการแพทย์ (Medical Food) รวมถึงอาหารใหม่ (Novel Food) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากส่วนประกอบหรือกระบวนการผลิตที่ไม่เคยมีมาก่อนโดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง
เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานจำนวนมาก มีมูลค่าการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในบรรดาสาขาต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย นโยบายประเทศไทย 4.0 จึงกำหนดอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเป็น 1 ใน 5 ของ First S-Curve ซึ่งความพร้อมทางด้านวัตถุดิบคุณภาพสูงและศักยภาพของผู้ประกอบการไทยทำให้ปัจจุบันประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งผลิตอาหารแห่งอนาคต 3 ประเภทแรกโดยเฉพาะอาหารเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากพืชผลทางการเกษตรปลอดสารเคมีที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมกว่า 80 ล้านเหรียญสหรัฐ และอยู่ในอันดับที่ 8 ของภูมิภาคเอเชีย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงเป็นความท้าทายให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาต่อไปคือ กลุ่มอาหารใหม่ที่ต้องใช้นวัตกรรมขั้นสูงในการผลิตเนื่องจากองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารแห่งอนาคตกลุ่มนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการชาวไทย การให้ข้อมูลและการกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถปรับตัวเข้ากับทิศทางอุตสาหกรรมอาหารโลก นโยบายการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) 7 แห่งเพิ่มเติมจากโครงการเดิมที่ตั้งอยู่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ จ.ปทุมธานี นอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการชาวไทยอย่างครบวงจรทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการจำหน่ายในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่าแล้วยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดวิธีคิดแบบนอกกรอบ เปิดรับองค์ความรู้ใหม่ และส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารจึงเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของไทยขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งให้กลายเป็น High Value Industry ที่มีความหลากหลาย ปลอดภัย มีคุณสมบัติทางการแพทย์ ช่วยเสริมสร้างพลังงาน รับประทานได้ทานง่าย และที่สำคัญคือ มีรสชาติดีตามแบบฉบับอาหารไทยอีกด้วย