Articles
3D PRINTING
02/10/2019คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการอุตสาหกรรมกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง Exponential Technology และการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา หนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการตอบโจทย์ด้านความยืดหยุ่นของกระบวนการผลิต คือ เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D Printing ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก
แม้ว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติจะมีมานานกว่า 30 ปีแล้วก็ตามแต่ในอดีตไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงการค้ามากนักเนื่องจากติดปัญหาด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันลิขสิทธิ์ของเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติหลายตัวได้หมดลงจึงทำให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ประกอบการต่างๆ สามารถที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้เชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ประกอบกับราคาเครื่องพิมพ์ที่ลดลงจึงทำให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตดังกล่าวได้เป็นวงกว้าง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกต่างมุ่งเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีแนวคิดสนับสนุนวิธีการผลิตแบบยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล (Customization) โดยที่ยังคงความสามารถในการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ใกล้เคียงกับการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) การผลิตแบบดั้งเดิมโดยการสกัดเนื้อวัสดุ (Subtractive Manufacturing) ซึ่งเป็นวิธีการผลิตโดยการลดเนื้อวัสดุด้วยวิธีต่างๆ เช่น การตัด การเจาะ ฯลฯ จึงไม่สามารถตอบโจทย์การผลิตของอุตสาหกรรมการผลิต 4.0 ดังกล่าวได้ ในขณะที่การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing) และเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติใช้หลักการเพิ่มเนื้อสารเข้าไปทีละชั้นจึงสามารถสร้างชิ้นงานโดยไม่ต้องมีแม่พิมพ์หรือ Prototype รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขแบบจำลองที่สร้างขึ้นโดย software คอมพิวเตอร์ และส่งข้อมูลต่อไปเพื่อผลิตชิ้นงานได้ทันทีทำให้เกิดการใช้วัตถุดิบเท่าที่จำเป็นและลดปริมาณของเสียเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการผลิตโดยการสกัดเนื้อวัสดุแบบดั้งเดิม
เนื่องจากโครงการ EEC ตั้งอยู่บนพื้นที่ฐานการผลิตสำคัญของประเทศจึงเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติเข้ามาเริ่มทดลองใช้ในกระบวนการผลิตเพราะแม้ว่า Mass Adoption ของ 3D Printing ในระดับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้เวลาสำหรับการบ่มเพาะอีกระยะหนึ่ง แต่เทคโนโลยี 3D Printing นี้ก็มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ ภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้ รวมถึงจับตามองพัฒนาการและเทรนด์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติได้แทรกซึมเข้ามามีบทบาทในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น การผลิต การก่อสร้าง การแพทย์ไปจนถึงวิทยาการอวกาศและการบิน และส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกผันของกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทานตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจและประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อนำเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับ Exponential Technology อื่นๆ อาทิเช่น หุ่นยนต์และระบบอัติโนมัติก็จะส่งผลกระทบต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เช่น การลดความสำคัญของปัจจัยการผลิตด้านค่าแรงและความได้เปรียบเชิงตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์สำหรับการผลิตและส่งออก ซึ่งจะกลายเป็นความท้าทายต่อความสามารถในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบรูปแบบเดิมและเป็นโจทย์ใหญ่ระดับประเทศที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจำเป็นต้องนำมาขบคิดและปรับตัวให้เข้ากับบริบทของการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน