Articles

SMART CITY

26/02/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ช่วงไม่กี่ปีมานี้เทรนด์ “เมืองอัจฉริยะ (Smart City)” กลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมจนเป็นที่สนใจของภาคธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนและมีส่วนร่วมในวาระแห่งชาติที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเร่งผลักดัน

จากการเปิดเผยรายงานผลการจัดอันดับเมืองอัจฉริยะหรือ IMD Smart City Index (SCI) ประจำปี 2019 โดยการวัดผลการรับรู้ของประชาชนต่อการบริหารจัดการเมืองตามแนวคิดของ Smart City ทั้งมิติด้านการสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเทศไทย (กรุงเทพฯ) ได้รับการจัดอันดับที่ 75 จากทั้งหมด 102 ประเทศโดยเมืองที่ได้รับการจัดอันดับสูงสุดได้แก่ สิงคโปร์ ตามมาด้วยอันดับ 2 เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และอันดับ 3 กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ รวมถึงยังมีเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ได้รับการจัดอันดับในครั้งนี้ อาทิ เมืองโฮจิมินห์และฮานอยได้รับการจัดอันดับที่ 65 และ 66 รวมถึงกัวลาลัมเปอร์ จาการ์ตา และมะนิลาที่ได้รับการจัดอันดับที่ 70, 81 และ 94 ตามลำดับ

ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ให้คำจำกัดความของ Smart City ไว้ว่าเป็นเมืองที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่ (1) Infrastructure (2) Data และ (3) Citizen ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยและการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว Smart City ก็มีศักยภาพอย่างมากในการช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองให้มีความปลอดภัย สะดวกคล่องตัว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ตามแนวคิดของเมืองน่าอยู่อาศัย

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่และฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงยังส่งผลให้ประโยชน์ที่แท้จริงและเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา Smart City คือ การยกระดับความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลและการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสังคมอย่างเปิดกว้างดังจะเห็นได้จากตัวอย่างการพัฒนา Smart City ของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่ได้มองเป้าหมายเรื่องการใช้เทคโนโลยีเป็นหลักแต่หากเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ปัจจุบันสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ก็ได้ประกาศเกณฑ์การพิจารณาเมืองอัจฉริยะเพื่อประกอบการรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการพัฒนา Smart City ตามข้อกำหนดทั้ง 5 ด้านแล้ว ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ของ WHA Group เองก็ได้รับมอบใบประกาศรับรองการเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ประเภทเมืองใหม่อัจฉริยะ (New City) ในฐานะนิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยและสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วยเช่นกัน

สำหรับปี 2563 คณะกรรมการ EEC ก็ได้วางนโยบายกำหนดกรอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาเมืองใหม่ภายในพื้นที่ให้แล้วเสร็จในไตรมาส 1 นี้ โดยตั้งเป้าหมายเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าจาก 2.4 ล้านคนในปัจจุบันเป็นกว่า 13.5 ล้านคนภายใน 10 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากหลายประเทศต่างสะท้อนให้เห็นตรงกันว่า การพัฒนา Smart City ให้ประสบความสำเร็จไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการผลักดันโดยภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นแต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและภาคสังคมจึงจะเกิดการพัฒนาที่สร้างประโยชน์ที่แท้จริงทางเศรษฐกิจและสังคมจนสามารถเป็นกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความเจริญอย่างยั่งยืนนั่นเอง