Articles

ENVIRONMENTAL SOCIAL AND GOVERNANCE

25/03/2020

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เริ่มกลายมาเป็นกระแสหลักของการพัฒนานับตั้งแต่ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้ร่วมลงนามในแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและด้วยความสำคัญดังกล่าวก็ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มนำแนวคิดการพัฒนาอย่างสมดุลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดกลยุทธ์องค์กรและสอดคล้องเป็นอย่างมากกับแนวทางการลงทุนสมัยใหม่ที่นักลงทุนจะนำองค์ประกอบของ ESG (Environmental, Social and Governance) เข้ามาประกอบกระบวนการพิจารณาและตัดสินใจลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยคำนึงถึงมิติต่างๆ กล่าวคือ

(1) Environment ได้แก่ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจ (2) Social ได้แก่ การบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างเท่าเทียมโดยการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพของพนักงาน รวมถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนที่อยู่รอบด้าน และ (3) Governance ได้แก่ การดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต มีการกำกับดูแลกิจการและดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม ซึ่งผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลก็จะแสดงความรับผิดชอบโดยการมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนตามมาตรฐานและความคาดหวังต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และการดูแลผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจากแต่ละประเทศก็อาจให้ความสำคัญสำหรับแต่ละองค์ประกอบแตกต่างกัน อาทิเช่น นักลงทุนจากกลุ่มประเทศยุโรปอาจเน้นที่มิติ Environment เพื่อตอบสนองนโยบายของกลุ่ม EU ในการลดก๊าซเรือนกระจก  สภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตามแผน European Green Deal หรือ ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนานักลงทุนอาจให้น้ำหนักไปที่มิติ Governance เพราะหากผู้ประกอบการมีการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลที่ดีก็จะมีส่วนช่วยผลักดันการบริหารจัดการด้าน Environment และ Social ที่ดีและมีประสิทธิภาพตามไปด้วย

ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็ตอบรับแนวทางการพัฒนาของโลกเป็นอย่างดีรวมถึงได้นำแนวคิดการพัฒนาอย่างสมดุลมาปรับใช้สำหรับกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน วัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนาของโครงการ EEC จึงถูกกำหนดให้เป็นไปเพื่อความยั่งยืนและสอดรับในทิศทางเดียวกันกับหลักการ ESG โดยการส่งเสริมและดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมุ่งสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างชัดเจนทั้งในด้านการปฏิบัติตามกฎหมาย จ่ายชำระภาษี การจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ตลอดจนนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้มีการประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักลงทุนโดยในปี 2562 กลุ่มบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนของไทยนั้นมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวมกันราว 11.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 65 ของมูลค่าตลาดรวมเลยทีเดียว

การปรับตัวโดยการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ประกอบการทุกขนาดที่ต้องการก้าวขึ้นไปแข่งขันในเวทีโลกเนื่องด้วยมาตรฐานสากลที่ทุกวันนี้ต่างถูกปรับให้สะท้อนถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติและไม่ว่าการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจะเกิดจากการผลักดันของผู้ออกกฎหมาย ความตื่นตัวของผู้บริโภค หรือผู้มีส่วนได้เสียรายอื่นใดก็ตามแต่ข้อเท็จจริงก็คือ บริษัทหรือผู้ประกอบการรายใดที่ไม่ปรับตัวรับมาตรฐานสิ่งแวดล้อม การดูแลสังคมและการกำกับดูแลขั้นสูงก็ยากที่จะแข่งขันได้ในระยะยาวนั่นเอง