Articles

FOOD LOSS AND FOOD WASTE

17/11/2021

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การสูญเสียอาหารและขยะอาหารเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า อาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกในแต่ละปีนั้นสูญเปล่าไปถึง 1 ใน 3 ซึ่งของเสียเหล่านี้เกิดขึ้นในทุกกระบวนการตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย จนถึงมือผู้บริโภคและด้วยการจัดการขยะอาหารที่ไม่ถูกวิธีอย่างเช่นการฝังกลบนั้นจึงนำมาซึ่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

จากรายงาน Food Waste Index Report 2021 ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) เปิดเผยว่า ในปี 2019 มีขยะอาหารเกิดขึ้นประมาณ 931 ล้านตัน เป็นสัดส่วนจากภาคครัวเรือนมากที่สุดที่ร้อยละ 61 ตามด้วยธุรกิจบริการอาหารที่ร้อยละ 26 และธุรกิจค้าปลีกที่ร้อยละ 13 โดยรายงานยังระบุว่า ร้อยละ 8-10 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกนั้นเกิดจากอาหารส่วนเกินเหล่านี้นั่นเอง และนอกเหนือจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้วขยะอาหารยังส่งผลทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 940 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รวมถึงส่งผลกระทบทางด้านสังคมอีกด้วย

เมื่อปัญหาดังกล่าวเป็นวาระสำคัญระดับโลก นานาประเทศจึงต่างหาแนวทางแก้ไขและบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ โดยจากกรณีตัวอย่างของประเทศต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารพบว่า มาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจังของภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการลดการสูญเสียตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า อาทิเช่น มาตรการจูงใจของสหรัฐอเมริกาที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับร้านค้าที่บริจาคอาหารส่วนเกิน หรือ การออกกฎหมายของฝรั่งเศสที่ให้ร้านค้าปลีกนำอาหารส่วนเกินไปบริจาคแทนการทิ้งพร้อมมาตรการลงโทษหากไม่ดำเนินการตาม หรือ โครงการ Pay-As-You-Recycle ของเกาหลีใต้ที่นำถังขยะอัจฉริยะชั่งน้ำหนักมาใช้และเรียกเก็บเงินตามปริมาณการทิ้งในแต่ละเดือน เป็นต้น

นอกเหนือจากการผลักดันของภาครัฐแล้ว การพัฒนาสินค้าผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจากภาคเอกชนก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการผลักดัน โดยในช่วงที่ผ่านมามีการพัฒนาโซลูชั่นหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือแพลตฟอร์มจับคู่ความต้องการ เช่น Apeel จากสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาสารเคลือบพื้นผิวผักผลไม้เพื่อช่วยคงความสดใหม่ได้นานเป็น 2 เท่า หรือ Wasteless จากอิสราเอลที่นำเทคโนโลยี RFID และป้ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อปรับเปลี่ยนราคาสินค้าตามวันหมดอายุ หรือ แอปพลิเคชัน Food Cloud จากอังกฤษที่ช่วยจับคู่ร้านค้าที่มีอาหารส่วนเกินกับหน่วยงานการกุศลที่ต้องอาหาร เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ในปี 2017 ไทยมีขยะอาหารคิดเป็นร้อยละ 64 ของปริมาณขยะทั้งหมด แต่เนื่องจากขาดระบบการคัดแยกขยะที่ดีจึงทำให้มีการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก ปัจจุบันทั้งภาครัฐและหน่วยงานเอกชนเองก็เริ่มตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารโดยในแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนปี 2017-2037 ได้ตั้งเป้าลดปริมาณขยะอาหารของประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ในปี 2037 นอกจากนี้ยังมีองค์กรอิสระอย่าง SOS Thailand ที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการกระจายอาหารส่วนเกินจากโรงแรม ภัตตาคาร หรือร้านค้าปลีกส่งต่อไปยังชุมชนหรือสถานสงเคราะห์

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนจากภาครัฐและภาคเอกชนนั้นไม่อาจเพียงพอในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เกิดขึ้นหากขาดความร่วมมือจากภาคครัวเรือน การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการลดขยะอาหาร รวมถึงการปลูกฝังให้ประชาชนปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการบริโภคจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน