Articles
SMART DELIVERY
24/11/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากยิ่งขึ้นดังที่สะท้อนจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด E-Commerce ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัย eMarketer ก็ได้คาดการณ์ว่าตลาด E-Commerce โลกจะมีมูลค่าสูงถึง 4.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 16.8 จากปี 2020 ซึ่ง การเติบโตดังกล่าวก็ได้ส่งผลให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจขนส่งพัสดุ หรือ Parcel Delivery ได้มีการขยายตัวตามไปด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นก็ได้ทำให้ระบบการขนส่งต้องหยุดชะงัก เกิดความล่าช้า และมีต้นทุนที่สูงขึ้นส่งผลให้ ภาคธุรกิจขนส่งพัสดุจำเป็นต้องปรับวิธีการดำเนินธุรกิจและเร่งนำเอานวัตกรรมสมัยใหม่มาพัฒนาคุณภาพของการให้บริการ ตัวอย่างเช่น UPS บริษัทขนส่งพัสดุชั้นนำสัญชาติอเมริกันที่นำหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (AMR) ซึ่งเชื่อมต่อกับระบบปฏิบัติการคลังสินค้า (WMS) มาคัดพัสดุส่งออกจากคลังสินค้าได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ ยังมี Cainiao บริษัทโลจิสติกส์ในเครือ Alibaba Group ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เครื่องบินไร้คนขับ (UAV) รถตู้ไร้คนขับ และหุ่นยนต์ส่งของ Xiaomanlv มาเสริมศักยภาพการให้บริการ Last-mile delivery ตลอดจนการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการขนส่งพัสดุที่ช่วยให้ผู้ให้บริการด้านการขนส่งและผู้ใช้บริการสามารถติดต่อกันได้แบบ real-time เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ธุรกิจขนส่งพัสดุนั้นได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความกดดันด้านราคาและการให้บริการ โดยศูนย์วิจัย SCB EIC ก็ได้เปิดเผยว่าตลาดขนส่งพัสดุประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 6.6 หมื่นล้านบาทในปี 2020 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากปีก่อนหน้า อันเป็นผลหลักมาจากปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมถึงยอดจัดส่งพัสดุที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 ล้านชิ้นต่อวันเลยทีเดียว ซึ่งภาครัฐก็ได้มีความพยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านการขนส่งพัสดุของไทยเร่งพัฒนาการให้บริการด้านการขนส่งพัสดุแบบครบวงจรผ่านทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของตลาด E-Commerce และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในโลกยุคดิจิทัล ตลอดจนสามารถลดต้นทุนการขนส่งเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการขนส่งพัสดุที่อยู่ทั้งในและต่างประเทศได้ด้วยนั่นเอง
ตลอดจน ภาคเอกชนเองก็ต่างให้ความสนใจและพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งพัสดุของประเทศไทยให้ทันสมัยและได้มาตรฐานเหมือนต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น WHA Group ที่ได้มีความร่วมมือกับ GIZTIX สตาร์ทอัพชั้นนำด้าน e-Logistic ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ให้บริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์กับผู้ใช้บริการ ในการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร อาทิเช่น การพัฒนา Smart Warehouse ที่มีการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติร่วมกับเทคโนโลยี 5G หรือ Smart Logistics ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกผ่าน AI และ Machine Learning ในขณะเดียวกัน ยังช่วยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาวไปพร้อมๆกัน
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามการพัฒนาต่อยอดด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Soft Infrastructure เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ยุคดิจิทัลนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ซึ่งหากได้รับการผลักดันเชิงนโยบายอย่างจริงจังจากภาครัฐ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบที่ทันสมัยคล่องตัว รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ให้และผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสจากความได้เปรียบของยุทธศาสตร์ที่ตั้งให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง