Articles
PIVOT TO ASIA
09/03/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในช่วงที่ผ่านมาหากพูดถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกหลายฝ่ายคงนึกถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ได้ลุกลามขยายขอบเขตไปจนกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาทิ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และ ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็ได้ส่งผลให้ นักลงทุนต่างพยายามกระจายความเสี่ยงโดยพิจารณาโยกย้ายฐานการผลิตและการลงทุนไปยังประเทศปลายทางที่ใกล้กับแหล่งผลิต/ ตลาดผู้บริโภค หรือหลายประเทศที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในภูมิภาคเอเชีย นั่นเอง
หากพิจารณาโดยละเอียดแล้ว ภูมิภาคเอเชียนั้นไม่เพียงแต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม การเมืองและแนวความคิด จึงได้ถือเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมสำคัญของโลกมากมาย ในปัจจุบัน ภูมิภาคดังกล่าวมีประชากรราว 4.5 พันล้านคน คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของประชากรโลก ตลอดจนมี GDP รวมมากกว่าครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด ทั้งนี้ คุณ Parag Khanna ผู้เขียนหนังสือ “The Future is Asian” เองก็ได้คาดการณ์ว่า ในศตวรรษที่ 21 ทิศทางของโลกจะหมุนย้อนกลับมาสู่การเป็นยุคแห่งภูมิภาคเอเชียอีกครั้ง ด้วยเช่นกัน
จากการศึกษาแนวนโยบายในต่างประเทศ ผู้เขียนพบว่า หลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชีย ดังสะท้อนจาก ยุทธศาสตร์ The Belt and Road Initiative (BRI) ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นโครงการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกที่มีวัตถุประสงค์หลักในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเครือข่ายเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมทางการค้า และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศจีนในการเข้าลงทุนในประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เอเชียใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ตลอดจนการเชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนเองก็ได้พยายามผลักดัน ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนา ส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สร้างงานที่มีรายได้ดี ฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทาน และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัวชนชั้นกลางในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อีกด้วย
สำหรับภาวะการลงทุนในภูมิภาคเอเชียนั้นก็นับว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางธุรกิจที่แข่งขันได้ รวมถึงมาตรการสนับสนุนด้านการลงทุน ซึ่งองค์กร UNCTAD เองก็ได้เปิดเผยตัวเลขเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ที่ไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นมูลค่ากว่า 870 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 30 จากมูลค่าเงินลงทุนในปี 2020 โดยมี ปัจจัยส่งเสริมหลักมาจากการเติบโตของเม็ดเงินลงทุนที่ไหลไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย เป็นต้น ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 35 ในปี 2021 เลยทีเดียว
ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะมีความได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ตรงศูนย์กลางของภูมิภาคและมีพรมแดนติดต่อกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม การเร่งพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความสะดวกและเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นั้นนับเป็นสิ่งจำเป็น ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถคว้าโอกาสจากการโยกย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของนักลงทุนชาวต่างชาติ อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันได้ในระยะยาวด้วยนั่นเอง