Articles
DEEP TECH STARTUP
11/05/2022คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ในทศวรรษที่ผ่านมา ทั่วโลกต่างตระหนักถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ Deep Tech ซึ่งเปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศจึงต่างพยายามส่งเสริมกลุ่มสตาร์ตอัปที่มุ่งเน้นพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีเชิงลึกและนวัตกรรมสมัยใหม่ ทั้งนี้ BCG บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจจากประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้เปิดเผยตัวเลขการลงทุนในสตาร์ตอัป Deep Tech ทั่วโลกว่ามีมูลค่าสูงถึง 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสี่เท่าจากมูลค่าในปี 2016 เลยทีเดียว
Deep Tech นั้นได้ถูกพัฒนาจากการผสมผสานเทคโนโลยี อาทิ AI, Robotics, IoT และ Immersive กับองค์ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้มีความซับซ้อนและเลียนแบบได้ยาก ซึ่งปัจจุบันมีสตาร์ตอัป Deep Tech ที่มีศักยภาพโดดเด่นอยู่ในหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น Nuance สตาร์ตอัปสัญชาติอเมริกันที่ได้สร้างซอฟต์แวร์ Speech & Voice Recognition ที่สามารถรองรับความคำสั่งที่ซับซ้อน และพัฒนาโปรแกรม Power PDF ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสร้าง แก้ไข และแบ่งปันเอกสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมี Voysis สตาร์ตอัปจากประเทศไอร์แลนด์ผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ใช้ประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language) ซึ่งช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและตีความภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารได้ เป็นต้น
ในปี 2021 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้เปิดเผยผลการประเมินระดับนวัตกรรมจาก 131 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยประเทศไทยมีคะแนนค่าเฉลี่ยรวมดัชนีอยู่ในอันดับที่ 43 ซึ่งเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับที่ 44 ในปีก่อนหน้า หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนแล้วไทยเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์ (อันดับที่ 8) และมาเลเซีย (อันดับที่ 36) เท่านั้น แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาด้านเทคโนโลยี Deep Tech ของไทยนั้นยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังมีสตาร์ตอัปไทยที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกอยู่ไม่มากนัก อีกทั้งกลุ่มสตาร์ตอัปยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านเงินลงทุน เครือข่ายงานวิจัย และการตลาด ที่ทำให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีไม่สามารถขยายผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ได้นั่นเอง
ซึ่งภาครัฐก็ได้มีความพยายามในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงผ่านทางโครงการต่างๆ อาทิเช่น NIA Deep Tech Incubation Program ที่ช่วยค้นหาสตาร์ตอัป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม ARI Tech: Artificial Intelligence (เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์) Robotics (เทคโนโลยีหุ่นยนต์) และ Immersive (เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง) ที่มีศักยภาพเพื่อร่วมทำงานกับบริษัทขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC โดยในปี 2021 โครงการดังกล่าวได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างสตาร์ตอัป ARI Tech มากกว่า 10 รายกับบริษัทขนาดใหญ่ 20 แห่ง ซึ่งคาดว่าสตาร์ตอัปจะได้รับเงินลงทุนไม่ต่ำกว่ารายละ 30 ล้านบาทเลยทีเดียว และยังได้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสตาร์ตอัป Deep Tech ให้เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 100 รายภายในปี 2023 อีกด้วย
การผลักดันกลุ่มสตาร์ตอัป Deep Tech นั้นถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและชี้วัดความสำเร็จของประเทศได้ในระยะยาว ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐผ่านทางข้อกำหนด/ มาตรการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ประกอบกับการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมแบบครบวงจรที่ช่วยให้สตาร์ตอัป นักวิจัย และนักลงทุน ทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนการออกแบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ส่งเสริมให้ประชากรไทยมีความรู้ด้านเทคโนโลยีและทักษะ Digital Literacy ที่สูงขึ้นก็จะช่วยให้เกิดการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกภายในประเทศ อันจะช่วยให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างประเทศและก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตได้อย่างแท้จริง