Articles
GLOBAL OUTLOOK
09/01/2024คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปี 2023 ที่ผ่านไปนับเป็นปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ทั้งสงครามอิสราเอล-ฮามาส และความผันผวนของตลาดเงิน/ ตลาดทุน ปี 2024 จึงเป็นปีแห่งความท้าทายต่อเนื่องจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความยั่งยืน ช่วงปีใหม่เช่นนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล ทิศทาง และเหตุการณ์ที่น่าจับตามองสำหรับปี 2024 นี้ค่ะ
(1) สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก
จากสงครามการค้า-เทคโนโลยี-ความมั่นคงสหรัฐฯ-จีน สู่สงครามยูเครน-รัสเซีย ต่อด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงความขัดแย้งและการสู้รบที่กระจายตามจุด Hotspot ในแต่ละภูมิภาค อาทิ ทิศทางรัฐบาลใหม่ของไต้หวันและความขัดแย้งเดิมกับจีน การสู้รบและปัญหาความไม่สงบภายในของพม่า ตลอดจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะจัดขึ้นช่วงปลายปี 2024 ล้วนเป็นปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนไปพร้อมๆ กับสภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2024 ที่ผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด เนื่องจากกลุ่มประเทศหลักมีแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่พร้อม/ ไม่เท่ากัน อาทิ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่น่าจะสามารถขยายตัวได้ในปีหน้าหลังจากการปรับลดดอกเบี้ยแม้ว่าจะยังคงมีความเปราะบางจากอัตราการจ้างงานที่ต่ำทั้งในภาคการผลิตและบริการ เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปที่หลุดออกจากช่วงเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยแต่ก็ยังคงมีปัจจัยกดดันต้องเฝ้าระวัง เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาสะสมเชิงโครงสร้างและปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลลบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียจะได้แรงหนุนจากความมีเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจมหภาคและการเงิน เป็นต้น
(2) เทคโนโลยี AI, Cybersecurity และ Green Tech
Artificial Intelligence จะมีพัฒนาการที่น่าสนใจในปี 2024 โดยเราจะได้เห็นการนำ Generative Artificial Intelligence (Gen AI) มาปรับใช้ในภาคธุรกิจควบคู่กับกระบวนการ AI Transformation ซึ่งเป็นการต่อยอดและยกระดับ Digital Transformation ไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ขณะที่ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ขยับจากสิ่งที่เป็นความสำคัญลำดับต้น (Top Priority) กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ (Absolute Necessity) สำหรับทุกองค์กร รวมถึงการเติบโตของ Green Tech โดยในปี 2024 บริษัทเทคโนโลยีจะยิ่งเร่งปรับตัวกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีสีเขียวเพื่อสร้างความแตกต่าง อาทิ Apple ที่ได้กำหนดเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน 100% ในซัพพลายเชนและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2030 หรือ Google ที่ประกาศให้ศูนย์ data center และ campus ปราศจากคาร์บอนก่อนปี 2030 เป็นต้น
(3) ความยั่งยืน
มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ เริ่มกลายเป็นหลักปฏิบัติพื้นฐาน เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป (เริ่มบังคับใช้ปี 2026) และทวีความเข้มข้นเมื่อประเทศอื่น ๆ เริ่มนำกลไกภาษีมาใช้เช่นกัน ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายของกระบวนการทั้งการวัด การรายงาน และการทวนสอบการปล่อยคาร์บอน แต่หากมองมุมกลับมาตรการเหล่านี้ก็จะเปิดโอกาสใหม่ๆ เช่น ธุรกิจการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน ธุรกิจการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงภาคเอกชนที่มีความพร้อมก็จะสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดของ global supply chain หรือประเทศไทยเองที่มีโอกาสพัฒนาระบบนิเวศทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และบุคลากรด้านธุรกิจสีเขียวเพื่อรองรับความต้องการของผู้ผลิตและนักลงทุนจากทั่วโลก