Articles
BIG TECH GOES GREEN
08/07/2024คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นวาระระดับโลก ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่หรือบิ๊กเทคต่างก็มีการนำเป้าหมายและวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างความแตกต่าง และเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร
ทั้งนี้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ถูกหลายฝ่ายจับตามองว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อาทิ ปริมาณ Carbon Footprint ที่มีข้อมูลว่าบริษัทเทคโนโลยีปล่อยคาร์บอนรวมกันสูงถึงร้อยละ 2-3 ของปริมาณคาร์บอนทั้งหมดในแต่ละปี หรือปริมาณการใช้พลังงานของ Data Center และ Cloud Computing ที่มีจำนวนสูงถึง 240-340 เทราวัตต์-ชั่วโมง หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 1 – 1.5 ของปริมาณความต้องการพลังงานทั้งโลก
นอกจากนั้น บริษัทเทคโนโลยียังเผชิญกับแรงกดดันเรื่องการใช้ทรัพยากรในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา และกระบวนการผลิต รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานอย่างจำกัดเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อซ้ำก็มีส่วนทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และแม้ว่า E-Waste จำนวนกว่า 60 ล้านตันจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งโลก แต่ E-Waste นั้นเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมากหากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงปัจจุบันอัตราความสามารถในการจัดเก็บและรีไซเคิล E-Waste เฉลี่ยอยู่ที่เพียงหนึ่งในห้าเท่านั้น
กระแสดังกล่าวทำให้บิ๊กเทคต้องปรับตัว (1) Microsoft ประกาศงดการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดภายในปี 2030 ตลอดจนภายในปี 2050 ก็มีแผนที่จะจัดการกับคาร์บอนทั้งหมดที่เคยปล่อยออกมานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 1975 (2) Google ประกาศให้ศูนย์ data center และ campus ทุกแห่งปราศจากคาร์บอนก่อนปี 2030 (3) Meta ตั้งเป้าหมาย Net Zero Value Chain Emissions โดยสนับสนุนและผลักดันให้ซัพพลายเออร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2030 (4) Apple ที่กำหนดเป้าหมาย Net Zero ในซัพพลายเชนและผลิตภัณฑ์ทั้งหมดภายในปี 2030 เช่นเดียวกัน
จากวิสัยทัศน์ดังกล่าว บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจึงกำหนดแผนงานและดำเนินโครงการ อาทิเช่น แผนการจัดซื้อหรือใช้พลังงานหมุนเวียนสำหรับกิจกรรมการดำเนินงานทั่วโลก การลงทุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน การสนับสนุนกลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต การผลักดันให้มีการใช้วัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยืนยาว เช่น การออกแบบอุปกรณ์ให้ซ่อมแซมได้ง่ายหรือจำหน่ายอะไหล่สำรองให้กับผู้บริโภคเพื่อส่งเสริม Right to Repair หรือสิทธิที่จะซ่อม เป็นต้น
ประเทศไทยเป็นหมุดหมายการลงทุนที่สำคัญมาอย่างยาวนาน ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะเร่งพัฒนาระบบนิเวศทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และบุคลากรเพื่อรองรับเทรนด์โลกที่ต้องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหากพิจารณาจากทิศทางของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่มีบิ๊กเทคเป็นผู้นำอุตสาหกรรมแล้ว หนึ่งในปัจจัยที่นำมาใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งย่อมเป็นเรื่องของพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนตามที่ได้ประกาศไว้ การปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศโดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าไม่มีการปล่อยคาร์บอนตามแนวทางของ “RE100” ให้มากขึ้นจึงจะเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และทำให้ประเทศไทยยิ่งน่าดึงดูดการลงทุนในยุคที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นวาระเร่งด่วนที่ไม่อาจมองข้ามไปได้