Articles
The Rise of Data Centers: Paving the Way for a Regional Digital Economy
02/12/2024คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จากการเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศน์ทางเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของธุรกิจออนไลน์ การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย การเข้ามาของเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะ Generative AI รวมถึงการที่องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ความต้องการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลและกระตุ้นให้ตลาด Data Center ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย IDC บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลการตลาดด้านโทรคมนาคมระดับโลกคาดการณ์ว่า พื้นที่จัดเก็บข้อมูลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 18.5% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2023-2027 และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สิงคโปร์เป็นประเทศที่ครองตำแหน่งศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลของอาเซียนมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในฐานะการเป็นศูนย์กลาง Data Center อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญหลายประการ ทั้งข้อจำกัดด้านกายภาพอย่างพื้นที่และพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ อัตราการปล่อยคาร์บอนต่อตารางเมตรที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกก็เป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายการมุ่งสู่ Net Zero ของประเทศ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงออกนโยบายจำกัดการขยายพื้นที่ Data Center ซึ่งส่งผลให้พื้นที่จัดเก็บข้อมูลไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้ให้บริการจึงเริ่มมองหาประเทศใกล้เคียงที่มีศักยภาพสำหรับขยายพื้นที่การลงทุน เพื่อรองรับความต้องการในภูมิภาคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนในการแสดงศักยภาพเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำรายใหม่ และท่ามกลางการแข่งขันนี้ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในผู้ท้าชิงที่เป็นที่น่าจับตาเช่นกัน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีขนาด Data Center ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของภูมิภาค ทั้งนี้ แม้จะเป็นรองคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซีย แต่ยังคงมีศักยภาพการเติบโตและมีข้อได้เปรียบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โครงสร้างพื้นฐานที่แข่งแกร่งทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ทรัพยากรน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการ ระบบไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ และศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนันสนุนอื่น ๆ อาทิ ความต้องการภายในประเทศที่เติบโตสูงจากการขยายตัวของธุรกิจดิจิทัล ตลอดจนการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อได้เปรียบหลายประการ แต่การจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง Data Center และเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนั้นจำเป็นต้องอาศัยนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยครอบคลุมใน 5 มิติซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน อันได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การปรับปรุงกฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ การยกระดับทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งผู้เล่นระดับท้องถิ่นและระดับโลก
โดยการหลั่งไหลของเงินลงทุนจากต่างชาติจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถของประเทศอย่างรอบด้าน ทั้งสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน พร้อมช่วยในการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาระบบนิเวศทางเทคโนโลยีและดิจิทัลในระยะยาว จากการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยได้เข้าถึงเทคโนโลยีในต้นทุนที่ต่ำลง รวมถึงสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่แรงงานไทย เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะสูงในอุตสาหกรรมดิจิทัล นอกจากนั้น การลงทุนจากบริษัทชั้นนำยังเสริมความเชื่อมั่นต่อนานาชาติ และตอกย้ำบทบาทของไทยในฐานะจุดหมายการลงทุนสำคัญในอาเซียนซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามมาและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนต่อไปนั่นเอง