Articles

TRUMP 2.0

10/02/2025

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

การกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สู่ทำเนียบขาว หรือยุค Trump 2.0 ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ พร้อมการประกาศว่า "ยุคทองของสหรัฐอเมริกา" กำลังจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ได้ออกคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับที่สะท้อนนโยบาย "America First" หรือ "ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน" ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่เคยใช้ในการหาเสียง

ภายใต้ Trump 2.0 นโยบายสำคัญที่ถูกผลักดันครอบคลุมหลากหลายด้าน โดยมีเป้าหมายหลักคือ การปกป้องเศรษฐกิจภายในประเทศ การเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน และการลดการพึ่งพาต่างชาติในด้านการค้าและการลงทุน เริ่มจากการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการขยายระยะเวลามาตรการลดภาษีนิติบุคคล ควบคู่กับการลดค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมผู้อพยพผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อลดแรงกดดันต่อการจ้างงานและราคาที่อยู่อาศัย ด้านการค้าระหว่างประเทศ ทรัมป์มีแผนเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนและประเทศอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการผลิตภายในประเทศและลดการย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ นอกจากนี้ การเข้มงวดกับจีนยังเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญ โดยสหรัฐฯ จะเพิ่มข้อจำกัดด้านการทุนในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและการส่งออกเทคโนโลยีไปจีน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะลดบทบาทของสหรัฐฯ ในองค์กรพหุภาคีและหันไปสนับสนุนการทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีแทน ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทรัมป์มีคำสั่งถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญระดับโลก พร้อมยกเลิกกฎระเบียบเกี่ยวกับการปล่อยมลพิษจากรถยนต์และข้อบังคับยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังเน้นการเพิ่มการผลิตพลังงานฟอสซิล สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ และผ่อนปรนกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน

การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะ Trump 2.0 จึงไม่เพียงเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงและผลกระทบเชิงลบต่อเสถียรภาพของโลก โดยเฉพาะต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าและภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ในด้านสิ่งแวดล้อม การถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอาจทำให้ความพยายามระดับโลกในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศชะงักลง โดยมีการคาดการณ์ว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นถึง 4 พันล้านตันภายในปี 2030 ส่งผลให้อุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นำไปสู่ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และลดทอนคุณภาพชีวิตของประชากรทั่วโลกในระยะยาว

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนอาจส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและห่วงโซ่อุปทานสู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างโอกาสในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และส่งเสริมการเติบโตของภาคการส่งออก แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทายที่ต้องรับมือ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจ พร้อมทั้งเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก การกำหนดยุทธศาสตร์อย่างชัดเจน การเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านยุคแห่งความท้าทายนี้ได้อย่างมั่นคง