Articles
CONTACTLESS ECONOMY & SOCIETY
11/08/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
สถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อ COVID-19 ที่ยืดเยื้อยาวนานนอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจำนวนมากแล้ว การค้นพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องก็ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ท่านผู้อ่านน่าจะได้ทราบข่าวการปิดโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น Toyota ประเทศไทยที่ตัดสินใจปิดสายการผลิตเพื่อลดผลกระทบด้านลบเนื่องจากพนักงานของบริษัทใน Supply Chain ติดโควิด หรือ Honda มาเลเซียที่ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากรัฐบาลประกาศปิดเมืองทั่วประเทศเพื่อลดปริมาณคลัสเตอร์การติดเชื้อในออฟฟิศและโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มบริการการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน การติดเชื้อของพนักงานทำให้ Flash Express จำเป็นต้องประกาศปิดศูนย์กระจายสินค้าเพื่อควบคุมสถานการณ์ หรือ Kerry และ J&T Express ที่กำหนดเกณฑ์วิธีการจัดส่งและการรับพัสดุใหม่ หรือ Thai Post ที่แจ้งปิดสถานที่ทำการชั่วคราวและออกประกาศการจัดส่งสิ่งของล่าช้า
ปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจและสังคมแบบไร้สัมผัส (Contactless Economy and Society) จึงได้รับความนิยมและถูกพูดถึงควบคู่ไปกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่ผู้คนพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิว สิ่งของสาธารณะ รวมถึงพื้นที่แออัด ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ การที่ผู้บริโภคทั่วโลกต่างหันมาใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จนปริมาณธุรกรรมเติบโตและทำให้หลายประเทศสามารถก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศไทย Visa ก็ได้เปิดเผยว่า COVID-19 กลายเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของไทยเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยประเมินไว้จากเดิม 10 ปีแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้ผู้ใช้บริการชาวไทยคุ้นเคยกับ QR code และการแตะบัตรเพื่อชำระเงินจนทำให้ประมาณการระยะเวลาการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของไทยลดลงเหลือเพียง 4-5 ปีเท่านั้น
ทั้งนี้ความนิยมวิถีการดำรงชีวิตแบบไร้สัมผัสก็ส่งผลต่อผู้ประกอบการในกลุ่ม Food Delivery ด้วยเช่นกัน ผู้ให้บริการ เช่น GrabFood, Lineman, Robinhood ฯลฯ ต่างหันมาโปรโมทบริการส่งอาหารแบบไร้สัมผัส (Contactless Delivery) ทั้งมาตรการกำหนดจุดรับส่งอาหาร การเว้นระยะขั้นต่ำ 2 เมตร และการส่งเสริมวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสระหว่างลูกค้าและผู้ขับขี่ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่นอกจากจะมีการนำมาตรการ Bubble and Seal มาใช้เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ผู้ผลิตหลายรายยังได้มีการนำเทคโนโลยีไร้สัมผัส (Contactless Technology) เช่น ระบบอัตโนมัติ ระบบตรวจจับและควบคุมทางไกล เทคโนโลยีจดจำใบหน้า เทคโนโลยีรู้จำเสียงพูด ฯลฯ เข้ามาใช้ประยุกต์ใช้ภายในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อภายในสถานประกอบการของตน
ซึ่ง Deloitte ก็ได้สรุปเทรนด์ดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า เศรษฐกิจและสังคมแบบไร้สัมผัสนั้นเกิดขึ้นจากแรงหนุน 2 ประการ (1) อุปทานซึ่งได้แก่ ความก้าวหน้าของ Exponential Technology ที่มาบรรจบกับ (2) อุปสงค์วิถีการดำรงชีวิตและการดำเนินธุรกิจที่ต้องการความสะดวก ปลอดภัย และกระแสการรักสุขภาพ ดังนั้นแม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจะผ่านพ้นไปในอีกไม่นานแต่เทคโนโลยีและแนวคิดเศรษฐกิจและสังคมแบบไร้สัมผัสนี้ก็จะยังคงอยู่ต่อไปและจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามา disrupt การทำงาน ชีวิตประจำวัน และการดำเนินธุรกิจในยุคศตวรรษที่ 21 ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปอย่างแน่นอน