Articles
AI MATURITY
10/04/2023คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
อาทิตย์ก่อนเราได้มีโอกาสได้คุยกันเกี่ยวกับอัตราการยอมรับ หรือ Adoption Rate ของเทคโนโลยี AI ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันต่อถึง ความพร้อม ของเทคโนโลยี AI ว่ามีเทคโนโลยีใดบ้างที่มีศักยภาพและความคาดหวัง (expectation) ในแง่ของการพัฒนาด้านความสามารถของเทคโนโลยีที่สูง รวมถึงความพร้อมของการนำ AI ไปปรับใช้ของภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน
หากพิจารณาถึงกรอบการทำงานของเทคโนโลยี AI ในปัจจุบัน Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำก็ได้เปิดเผยข้อมูลด้านความสามารถของเทคโนโลยี AI ไว้ในรายงาน The Hype Cycle for Artificial Intelligence 2022 โดยรายงานดังกล่าวได้ระบุถึงเทคโนโลยี AI ที่ได้ถูกคาดว่าจะมีศักยภาพสูงในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและจะมีการขยายขอบเขตของประสบการณ์อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้นภายใน 2-10 ปีข้างหน้า ตัวอย่างเช่น Generative AI หนึ่งในเทคโนโลยี AI ที่ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการ “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งการเปิดตัวของ ChatGPT โดยบริษัท Open AI ก็ได้ทำให้ทั่วโลกต่างหันมาให้ความสนใจต่อเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น ดังสะท้อนจากยอดการให้เงินลงทุนใน Generative AI ที่สูงถึง 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 คิดเป็นการขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 71 เลยทีเดียว อีกทั้งยังมี Synthetic Data หรือ การใช้เทคโนโลยี AI มาสร้างข้อมูลสังเคราะห์/จำลองด้วยคอมพิวเตอร์หรืออัลกอริธึมแทนข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริง และ Natural Language Processing (NLP) เทคโนโลยี AI ที่ทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาของมนุษย์ โดยการใช้ Machine Learning เข้ามาช่วยประมวลผลการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น
สำหรับความพร้อมในฝั่งของผู้ใช้งาน Accenture บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจระดับโลกก็ได้ทำการสำรวจวุฒิภาวะทาง AI หรือ AI Maturity ในองค์กรขนาดใหญ่กว่า 1,600 องค์กร โดยได้แบ่งบริษัทออกเป็น 4 กลุ่มวุฒิภาวะ ตามความสามารถในการใช้ AI เพื่อประสิทธิภาพต่อลูกค้า พนักงาน และผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย (1) AI Achievers - องค์กรที่มีกลยุทธ์ด้าน AI ที่สร้างความแตกต่าง และมีความสามารถในการใช้ AI เพื่อสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ (2) AI Innovators - องค์กรที่มีวุฒิภาวะในด้านกลยุทธ์ธุรกิจเกี่ยวกับ AI แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ (3) AI Builders – องค์กรที่มีความสามารถด้านการใช้ AI ที่เหนือกว่ากลยุทธ์ด้าน AI ขององค์กร (4) AI Experimenters – องค์กรที่ยังไม่มีวุฒิภาวะด้าน AI ทั้งในด้านกลยุทธ์และความสามารถ โดยรายงานดังกล่าวได้เปิดเผยว่ามีองค์กรที่เข้าร่วมการสำรวจเพียง 12% ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม AI Achievers ที่สามารถสร้างรายได้จากการใช้เทคโนโลยี AI ในขณะเดียวกัน มีบริษัทที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม AI Innovators (13%) กลุ่ม AI Builders (12%) และองค์กรส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มที่เป็น AI Experimenters ถึง 63%
คงมิอาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยี AI กำลังมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ด้วยเหตุนี้ ผู้นำประเทศ/องค์กรจึงไม่อาจละเลยและควรเฝ้าติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI อย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ ก็ควรเร่งสร้างกลยุทธ์ด้าน AI ผลักดันวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ส่งเสริมบุคลากรให้มีความสามารถด้าน AI และสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ตลอดจนเตรียมความพร้อมของเครื่องมือ/แพลตฟอร์มที่รองรับการประยุกต์ใช้ AI เพื่อให้องค์กรสามารถคว้าโอกาสจากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาต่อยอดธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ/ องค์กรได้ในระยะยาวนั่นเอง