Articles
CHINA PLUS ONE
08/04/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา คือ ยุทธศาสตร์ China Plus One หรือการที่บริษัทญี่ปุ่นที่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจกับจีนพยายามลดสัดส่วนการพึ่งพาจีนลงเนื่องจากความไม่มั่นใจในความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งสองจนเป็นสาเหตุให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นมองหาประเทศอื่นเพื่อทดแทนจีนทั้งด้านการเป็นแหล่งนำเข้าและการเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก
ในอดีตที่ผ่านมาเราจึงเห็นการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นมายังประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน เช่น เสื้อผ้า สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ ฯลฯ รวมถึงประเทศไทยสำหรับอุตสาหกรรม High Value เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องจักร เพื่อเป็นฐานการผลิตที่เชื่อมโยงกับประเทศจีนและตลาดทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าแรงและค่าครองชีพในเมืองอุตสาหกรรมของจีนมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น การเผชิญกับกฎระเบียบและมาตรการควบคุมที่ค่อนข้างเข้มงวดของรัฐบาลจีน สงครามการค้าที่แม้ว่าสหรัฐฯ และจีนจะทำความตกลงกันได้บางส่วนแต่ก็กลายเป็น catalyst สำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ก็ได้ทำให้ยุทธศาสตร์ China Plus One ถูกกลับนำมาพูดถึงอีกครั้ง ผู้ประกอบการชาติต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการชาวจีนเองต่างปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจครั้งใหญ่ตั้งแต่การย้ายฐานการผลิตทั้งหมดออกจากจีน (ซึ่งต้องใช้เวลาและเงินลงทุนสูง) หรือย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อเป็นฐานการผลิตสำรองหรือเพื่อประกอบสินค้าขั้นสุดท้ายและส่งออกแทนที่ประเทศจีนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในอดีตนั่นเอง
ซึ่งนอกจาก China Plus One แล้วยังมีอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ในขณะนี้ถูกพูดถึงค่อนข้างมากและเกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง คือ ยุทธศาสตร์ Thailand Plus One โดยประเทศที่คาดว่าจะกลายมาเป็น + 1 ของไทยได้แก่ประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียง - พม่า ลาว และกัมพูชา รวมถึงเวียดนามสำหรับบางอุตสาหกรรม ซึ่งภายใต้โมเดลดังกล่าวกลุ่มนักลงทุนจะเคลื่อนย้ายหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ใช้แรงงาน (labor-based) ไปยังประเทศเหล่านี้และขณะเดียวกันก็ผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางของกระบวนการผลิตที่เน้นเทคโนโลยีและการลงทุนซึ่งเป็นการประสานกระบวนการผลิตทั้งสองส่วนให้เกิดเป็นการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดนี้จึงไม่ใช่การลดความสำคัญของประเทศไทยลงแต่กลับเป็นการเสริมให้ไทยแข็งแกร่งและเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น
หัวใจสำคัญจึงเป็นการเชื่อมโยงระบบคมนาคมระหว่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ EEC ที่มุ่งเชื่อมโยงเข้ากับเขตเศรษฐกิจและความร่วมมือต่างๆ ภายในภูมิภาค อาทิ กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ที่มุ่งเชื่อมโยงอนุภูมิภาคเข้ากับประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียเหนือผ่านแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) หรือประเทศอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ผ่านแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ตลอดจนการเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiatives เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการเดินทางและการขนส่งที่เชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียเข้ากับทั่วโลก
จากข้อมูลล่าสุดที่เศรษฐกิจของจีนเริ่มฟื้นตัวภายหลังการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้เป็นผลสำเร็จช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะถอดบทเรียนความสำเร็จ รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการกลับเข้ามาของกิจกรรมการค้าและการลงทุนภายหลังจากสถานการณ์การระบาดสงบลงแล้วนั่นเอง