Articles
THE NEW NORMAL
13/05/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
การแพร่ระบาดของ COVID-19 กลายเป็นปรากฏการณ์ Disruption ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลก คำว่า “New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในความหมายของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นชินกับการดำรงชีวิตรูปแบบใหม่ และกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและบริการต้องเร่งปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
ความปกติใหม่ที่ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก คือ การเกิด Digital Transformation หรือ การที่เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอัตราเร่ง จนกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้หลายประเทศ องค์กร รวมถึงประชาชนสามารถผ่านพ้นระยะวิกฤตของ COVID-19 ไปได้ ในช่วงของการ Lockdown พวกเราหลายคนต่างมีประสบการณ์การ Work From Home ผ่านแอพพลิเคชั่นการประชุมออนไลน์ อาทิ Microsoft Teams หรือ Zoom, Shop From Home ผ่านแพลตฟอร์ม E-Commerce อาทิ Lazada หรือ Shopee, Eat At Home ด้วยบริการส่งอาหารของ Grab และ Lineman ฯลฯ ตลอดจนดูหนังและซีรีย์ผ่าน Netflix หรือเล่นเกมส์ที่บ้านจนทำให้เครื่องเกมส์อย่าง Nintendo Switch ขายดีจนสินค้าขาดตลาด เป็นต้น
นอกจากนั้น ความปกติใหม่ยังรวมไปถึงกระแสการใส่ใจสุขภาพและการลงทุนเพื่อค้นหานวัตกรรมด้านสาธารณสุขจากทั่วโลก ในบทความ “The First Modern Pandemic” คุณ Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft ได้เปรียบเทียบการต่อสู้เพื่อหยุดยั้ง (สงคราม) COVID-19 ครั้งนี้ว่าเป็นความพยายามของมนุษยชาติที่จะร่วมมือกันพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมทั้ง (1) การรักษา (2) วัคซีนป้องกัน (3) การตรวจสอบ (4) การติดตาม และ (5) นโยบายที่จะช่วยเปิดเศรษฐกิจ ซึ่งนวัตกรรมและความรู้ที่เกิดขึ้นจากการค้นคว้าเหล่านี้ก็จะมีส่วนช่วยในการปฏิวัติและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอีกมากมายในระยะยาว
อุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรจึงเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้โครงการ EEC ที่มีแนวโน้มจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาตรการส่งเสริมทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้พื้นที่ EEC มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการพัฒนาให้ทั้ง 2 อุตสาหกรรมของไทยมีความก้าวหน้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา COVID-19 ก็ทำให้ผู้บริโภคต่างปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีดิจิทัลไปจนถึงสามารถยอมรับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ อัตราการเข้ารับบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จากสถานพยาบาลทั้งของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น หรือ การยอมรับบริการตรวจคัดกรองจากหุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์เพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคคล เป็นต้น
ช่วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่จะต่อยอดความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขเดิม อาทิ เครือข่ายโรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ฯลฯ ด้วยการพัฒนา Digital Healthcare และ Online Platform ควบคู่ไปกับการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Medical Hub ที่สำคัญของภูมิภาคเช่นเดียวกันกับ การเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ อาทิ programmer, embedded system engineer, mobile developer, business analyst ฯลฯ อันจะเป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงทั้งในอุตสาหกรรมการแพทย์/ บริการสาธารณสุข รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่นๆ ของไทยต่อไป
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้จึงเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญทั้งในระดับประเทศ องค์กร และตัวของพวกเราทุกคนถึงการ transform เพื่อรับมือกับ disruption และเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ผู้ที่ติดตามและเข้าใจ Megatrends ตลอดจนสามารถปรับตัวในช่วงเวลาวิกฤตก็จะเป็นผู้ที่อยู่รอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน VUCA World หรือ โลกยุคหลัง COVID-19 ที่ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity) จะเกิดขึ้นจนกลายเป็นความปกติใหม่ หรือ New Normal นั่นเอง