Articles
EEC GO
04/11/2020คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงาน EEC GO เดินหน้าลงทุน ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจซึ่งงานสัมมนาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ผู้เขียนมีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรต่อเนื่องจากงาน EEC ไม่มีไม่ได้ และ EEC NEXT ทุนไทย-เทศ ปักหมุด ผู้เขียนจึงขอใช้พื้นที่นี้นำเสนอมุมมองจากประสบการณ์ของผู้เขียนในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งและมีความเกี่ยวข้องกับโครงการ EEC มาโดยตลอด
- แนวโน้มสถานการณ์โลกและภายในภูมิภาค
ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกทั้งสงครามการค้าที่พัฒนากลายเป็นความขัดแย้งทางเทคโนโลยีและความมั่นคง กระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าความผันผวนดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนตามยุทธศาสตร์ China Plus One มายังกลุ่มประเทศอาเซียนที่ปัจจุบันมีความโดดเด่นมากในฐานะจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของโครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) ที่มุ่งเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งคมนาคม พลังงาน โทรคมนาคมการสื่อสาร รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่าง The Greater Bay Area (GBA) ของจีนเข้ากับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคไว้ด้วยกันตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน อาทิ ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ที่ปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 5 ภาคีสมาชิก (ไม่รวมอินเดีย) เป็นต้น
- สถานการณ์การลงทุนของประเทศไทย
แม้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบด้านการลงทุนจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาสในด้านการลงทุนอยู่มากและโครงการ EEC ก็จะมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้สำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งปีแรก มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นมูลค่ารวม 158,890 ล้านบาท โดยมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 53 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนความสำคัญของโครงการ EEC ในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยภาคเอกชนต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็นและพยายามช่วยผลักดันให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่ EEC ด้วยเช่นกัน อาทิ ภายใน 5 ปีข้างหน้า WHA Group ก็ตั้งเป้าหมายลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นมูลค่าอีกกว่า 30,000 ล้านบาทโดยคาดการณ์ว่าการลงทุนดังกล่าวจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากนักลงทุนกลุ่มต่างๆ ได้สูงถึง 300,000 - 400,000 ล้านบาททีเดียว
- มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ
ปัจจุบัน WHA Group ยังคงได้รับการติดต่อจากนักลงทุนจำนวนมากโดยเฉพาะนักลงทุนสัญชาติจีน ญี่ปุ่นและไต้หวันที่มีความพร้อมเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการการออกหนังสือเดินทางและข้อปฏิบัติการกักตัวที่บังคับใช้กับนักธุรกิจต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาติดต่อธุรกิจในประเทศยังเป็นข้อจำกัดค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น ประเทศเวียดนามที่พิจารณาผ่อนคลายมาตรการด้านการเดินทางเพื่อธุรกิจอย่างจริงจัง หน่วยงานภาครัฐของไทยจึงควรเร่งผ่อนปรนมาตรการการรับนักธุรกิจต่างชาติ รวมถึงเกณฑ์การออกหนังสือเดินทางให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคอย่างแท้จริง