Articles
DE-GLOBALIZATION
27/01/2025คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ห่วงโซ่คุณค่าโลก (Global Value Chain) เป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้การค้าของโลกในยุคหลังสงครามเย็นเติบโตอย่างก้าวกระโดด กระบวนการผลิตสินค้าถูกแบ่งเป็นหลายขั้นตอนและกระจายให้ผู้ผลิตที่มีความชำนาญในแต่ละด้านจนเกิดการประหยัดจากขนาดและการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีปัจจัยสนับสนุน เช่น ค่าขนส่งและต้นทุนการติดต่อสื่อสารที่ลดต่ำลง นโยบายการเปิดเสรีการค้าของประเทศต่างๆ เทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้า ฯลฯ ทั้งนี้ความหมายของโลกาภิวัตน์ก็ไม่ได้จำกัดแค่มูลค่าการค้าขายและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการเคลื่อนย้ายของผู้คนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมากระแส De-globalization หรือ การถดถอยของโลกาภิวัตน์ หรือ Slowbalization ตามคำจำกัดความของ IMF เริ่มถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ข้อมูลสำคัญที่หลายฝ่ายนำมาอ้างอิง ได้แก่ สัดส่วนมูลค่าการค้าและมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงต่อจีดีพีโลกที่ภายหลังจากทำสถิติสูงสุดที่ร้อยละ 61 ในปี 2008 ซึ่งเป็นปีเดียวกับวิกฤตการเงินโลกแล้ว อัตราส่วนดังกล่าวก็ไม่เคยกลับขึ้นไปถึงจุดสูงสุดนั้นอีกเลย
จากปี 2001 ที่ประเทศจีนเข้ามาเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) และมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าจากการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกเนื่องด้วยความได้เปรียบจากต้นทุนแรงงานราคาถูกถึง สงครามการค้า-เทคโนโลยี-ความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ - จีน ที่ทำให้สหรัฐฯ ในปี 2018 ตั้งกำแพงภาษีและกำหนดมาตรการเข้มงวดกับสินค้านำเข้าจนจีนต้องตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกันไปจนถึง วิกฤตการระบาดโควิด 19 ที่มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลจีนทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ ความขัดแย้งระหว่างฮามาส-อิสราเอล-อิหร่าน ทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการทั่วโลกต้องปรับตัวโดย (1) การย้ายกลับมาผลิตในประเทศต้นทาง (Reshoring) (2) การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันหรือใกล้กับประเทศต้นทางเดิม (Nearshoring) (3) การย้ายไปยังประเทศพันธมิตร (Friend-shoring) หรือ (4) ดำเนินกลยุทธ์ China+1 เพื่อกระจายห่วงโซ่การผลิตสู่ประเทศอื่นเพิ่มเติมนอกจากประเทศจีนล้วนแต่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการถดถอยของโลกาภิวัตน์ ซึ่งกระแส De-globalization ยังมีมิติที่รวมถึงการแบ่งขั้ว (De-coupling) ที่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ – จีนมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนปัจจุบันและจะส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานของหลายอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ฯลฯ แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเผชิญกับทั้งช่วงขาขึ้นและขาลงแต่โดยเฉลี่ยแล้วการส่งออกของไทยยังสามารถเติบโตประมาณร้อยละ 4 ต่อปี อย่างไรก็ตาม กระแสโลกาภิวัตน์ที่ชะลอตัวประกอบกับการแบ่งขั้วของอุตสาหกรรมสำคัญนั้นย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง ซึ่งประเทศไทยเองก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบเหล่านี้เนื่องด้วยเศรษฐกิจไทยปัจจุบันยังพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
ผู้ประกอบการชาวไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวด้วยการเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกผ่านการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ในขณะที่ภาครัฐก็ควรใช้โอกาสท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วเพื่อดึงดูดผู้ผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และภาคบริการอื่นๆ อาทิ บริการด้านสุขภาพ บริการทางด้านการเงิน เพื่อสร้างมูลค่าการค้าการลงทุนท่ามกลางกระแส De-globalization และ Decoupling นี้