Articles

EEC & INFRASTRUCTURE DEVELOPMENT

20/06/2018

ตามที่ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายไว้เมื่ออาทิตย์ก่อน อาทิตย์นี้เราจะมาคุยกันถึงรายละเอียดของโครงการ EEC ด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์ ว่าจะมีส่วนช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างไรบ้าง

จากการที่ผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยย้อนหลังของทั้ง IMD และ WEF ผู้เขียนพบว่าคุณภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมของประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ลดลงตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยมีอันดับดีขึ้นเล็กน้อยในปีปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยขาดการวางแผนลงทุนด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะระบบการขนส่งทางรางซึ่งเป็นแกนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกลับไม่ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน ท่านผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า การขนส่งโดยระบบรางหรือรถไฟได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนการขนส่งต่อหน่วยต่ำที่สุด มีการใช้พลังงานที่ไม่มากรวมไปถึงทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยจึงทำให้เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ในเมื่อการขนส่งระบบรางของประเทศไม่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีคุณภาพและครอบคลุมเพียงพอกับความต้องการ รูปแบบการขนส่งสินค้าในประเทศจึงต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะมีต้นทุนต่อหน่วยในการขนส่งสินค้าสูงกว่าการขนส่งทางราง รวมทั้งนำมาซึ่งปัญหาการจราจร อุบัติเหตุ มลภาวะและอื่นๆ ตามมามากมายอีกด้วย

หากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสติดตามแผนการลงทุนของโครงการ EEC สำหรับส่วน Mega Project จะพบว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดนโยบายการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) โดยจะพิจารณาคัดเลือกและดำเนินโครงการตามแนวทาง PPP Fast Track เพื่อความคล่องตัวของการลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย (1) รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (2) สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก (3) ท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 (4) ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (5) ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และ (6) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตัล โดย 5 โครงการจากทั้งหมด 6 โครงการเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางอากาศ ทางบก ทางราง ทางน้ำ แบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation)

นอกจากนั้น ภาครัฐเองก็อยู่ระหว่างการผลักดันการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อื่น ๆ ทั้งในส่วนของโครงการใหม่ และซ่อมแซมระบบเดิมนอกเหนือจากโครงการภายใต้พื้นที่ของ EEC ซึ่งหากโครงการต่าง ๆ ดำเนินการแล้วเสร็จในอนาคตก็จะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งให้กับภาคธุรกิจทั้งผู้ผลิตและผู้ดำเนินธุรกิจนำเข้าและส่งออก ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการในเมืองไทยกับนานาประเทศ และเป็นการเปิดพื้นที่ศักยภาพใหม่ ๆ อันจะช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามเส้นทางคมนาคมขนส่งนั้น ๆ ตามมา

เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก็อาจจะทำให้หลาย ๆ ท่านนึกถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย (ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงตามยุทธศาสตร์ The Belt and Road Initiative ของรัฐบาลจีนที่ต้องการเชื่อมโยงระบบโครงสร้างคมนาคมและการขนส่งสินค้าของภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน ซึ่งอาทิตย์หน้าเราก็จะมาคุยกันว่า โครงการ EEC จะมีบทบาทช่วยให้ประเทศไทยสามารถกลายเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างไร

บทความนี้ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับ วันพุธที่ 20 มิถุนายน 2561 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10863 คอลัมน์ Smart EEC: EEC & Infrastructure Development