Articles

THE EASE OF DOING BUSINESS

13/11/2019

คุณจรีพร จารุกรสกุล

ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้มีการเปิดเผยรายงาน The Ease of Doing Business ประจำปี 2020 ซึ่งเป็นรายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยการศึกษาครอบคลุมถึงขั้นตอนและระยะเวลาการให้บริการ การอำนวยความสะดวก ต้นทุนค่าใช้จ่าย กฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ว่ามีส่วนสนับสนุน หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศ อย่างไร

จากผลการจัดอันดับในปีล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลกโดยมีคะแนนทั้งสิ้น 80.1 และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นอย่างมากจากปี 2019 ที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 27 และมีคะแนน 78.5 โดยนับเป็นผลการจัดอันดับที่ดีที่สุดของประเทศไทยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาและมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 (86.2 คะแนน) และมาเลเซียซึ่งอยู่อันดับที่ 12 (81.5 คะแนน) มากขึ้น

ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการจัดอันดับและคะแนนสำหรับแต่ละปัจจัยย่อยแล้ว ผู้เขียนพบว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจในหลายปัจจัยโดยเฉพาะด้านที่ได้รับอันดับและคะแนนสูงขึ้นมากในปีล่าสุดได้แก่ (1) ด้านการขออนุญาตก่อสร้างที่เป็นผลมาจากการดำเนินการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาตลงไปจำนวนมาก และ (2) ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยจากการเพิ่มขึ้นของคะแนนด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้น

ผลการจัดอันดับในปีนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของภาครัฐในการดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งด้านการลดขั้นตอนการขออนุมัติ หรือการนำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ รวมถึงการเร่งปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เป้าหมายการพัฒนาของโครงการ EEC ที่ดำเนินการปฏิรูปกฎระเบียบและบริการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติโดยเฉพาะเรื่องการติดต่อขอใบอนุญาตจำนวนมากที่ปัจจุบันกระจายอยู่ภายใต้การดูแลกำกับของหลายหน่วยงาน

ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายก็ได้กำหนดให้มีบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจรในพื้นที่ EEC หรือ EEC One Stop Service เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนในเรื่องต่างๆ เช่น การขออนุญาตใช้และถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน การก่อสร้าง การขอรับประโยชน์ด้านภาษีอากร รวมถึงการจัดหน่วยบริการเพื่อต่ออายุใบอนุญาตทำงาน วีซ่า และบริการนักลงทุน เช่น การให้คำปรึกษาเพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และงานบริการสนับสนุนผู้พัฒนาอสังสหาริมทรัพย์ เช่น การยื่นขอประกาศพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

โดยศูนย์ EEC-OSS ก็ได้ตั้งเป้าหมายลดระยะเวลาการขออนุมัติ จำนวนเอกสาร และขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้การเริ่มต้นดำเนินธุรกิจในพื้นที่ EEC เป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว อาทิเช่น ลดระยะเวลาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเหลือ 78 วันจากเดิม 158 วัน และใช้เอกสารประกอบเพียง 42 รายการจากเดิม 60 รายการ เป็นต้น ตลอดจน BOI ก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและประสานงานการลงทุนในลักษณะ One Stop Service เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาอุปสรรคแก่นักลงทุนที่สนใจด้วยเช่นกัน

ผลการจัดอันดับที่ดีขึ้นมากในปีนี้ก็เป็นผลจากความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งจำเป็นต้องร่วมแรงร่วมใจดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้มีความสะดวกและเอื้อต่อการประกอบการในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ได้ในระยะยาวนั่นเอง