Articles
FUTURE OF WORK (1)
03/02/2021คุณจรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
ช่วงสัปดาห์แรกของการทำงานในปี 2564 ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านบทความเกี่ยวกับผลการสำรวจ 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่สนใจร่วมงานด้วยมากที่สุดในปี 2020 ของประเทศไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยบริษัท WorkVenture ผ่านการสอบถามออนไลน์กับกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มคนวัยทำงาน ช่วงอายุระหว่าง 21-35 ปี ถึง “องค์กรในฝัน” และปัจจัยหลักในการเลือกงานของคนรุ่นใหม่ ว่าอะไรเป็นองค์ประกอบที่ตรงใจสำหรับองค์กรที่ใช่ของคนรุ่นใหม่
ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อเราถามกลุ่มนักศึกษาจบใหม่หรือกลุ่มคนวัยทำงานถึงปัจจัยที่ทำให้เลือกที่จะร่วมงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง คำตอบที่ได้มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการที่ดึงดูด ชื่อเสียงและความมั่นคงขององค์กร รวมไปถึงโอกาสในการพัฒนาเรียนรู้และการเติบโตในหน้าที่การงาน ในขณะที่เมื่อถามถึง “องค์กรในฝัน” เราก็มักจะเห็นองค์กรชื่อเดิม ๆ ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ดูมีความมั่นคง จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ หรือเป็นองค์กรข้ามชาติที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
ผลสำรวจของ WorkVenture ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมีนัย เช่น “ความสามารถด้านเทคโนโลยีของบริษัท” ได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกงานของคนรุ่นใหม่ โดยผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญกับนโยบายขององค์กรที่มีความยืดหยุ่นต่อรูปแบบการทำงาน ซึ่งถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของการทำงานแบบ ‘Work From Home’ หรือ ‘Work From Anywhere’ รูปแบบการประชุมผ่านระบบ Virtual meeting รวมไปถึงการเข้าร่วมหลักสูตรอบรมแบบออนไลน์ โดยการที่องค์กรให้การสนับสนุนพนักงานให้สามารถปฏิบัติงานที่บ้านได้อย่างราบรื่นเป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจในความปลอดภัยของพนักงาน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’
ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของ McKinsey ซึ่งจัดทำขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมาว่า ‘โควิด-19’ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้องค์กรทั่วโลกต้องรีบปรับแผนในการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจ โดยหัวข้อที่องค์กรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ คือการนำเอาระบบที่ช่วยสนับสนุนรูปแบบการทำงานแบบ “Remote Working and Collaboration” มาปรับใช้ ซึ่งจากการสอบถามของ McKinsey ยังพบว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ถูกกดดันด้วย ‘โควิด-19’ องค์กรที่ตอบแบบสอบถามใช้เวลาโดยเฉลี่ยเพียง 10.5 วันในการนำเอาระบบ Remote Working มาติดตั้งใช้งานจริง ซึ่งเร็วกว่าแผนงานที่เคยกำหนดเอาไว้กว่า 40 เท่า สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเร่งด่วนที่องค์กรจะต้องพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานและความปลอดภัยของพนักงานด้วย
นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ‘การที่องค์กรต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น’ ‘ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘ความหลากหลายทางเชื้อชาติและเพศในกลุ่มพนักงาน’ ซึ่งองค์กรที่ต้องการดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาร่วมงานด้วยคงจะต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่าอยากจะเป็นที่รู้จักและจดจำในกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างไร รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติจากที่ว่าองค์กรเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครที่ดีที่สุด กลายเป็นผู้สมัครที่เก่งจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกองค์กรที่ดีที่สุด
ในโอกาสต่อ ๆ ไป ผู้เขียนจะมาชวนคุยเกี่ยวกับ “องค์กรในฝัน” ของคนรุ่นใหม่กันต่อ และจากปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้จะส่งผลให้ ‘Future of Work’ ของประเทศไทยเป็นไปในทิศทางใดค่ะ